29 ส.ค. 2567 | 18:00 น.
KEY
POINTS
ปลายเดือนแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอปัญหาเงินเดือนยังไม่ทันออก แต่ชาวแก๊งก็ชวนออกไปเที่ยวถี่เหลือเกิน
“ใจก็อยากจะเที่ยว เงินก็ไม่ค่อยจะมี” เป็นอย่างนี้หลายคนเลยเลือกปฏิเสธคำชวนเพื่อน ๆ ไปดื้อ ๆ พอเซย์โนหลายครั้งเข้า เพื่อน ๆ ก็เลยไม่ชวนไปไหนมาไหนอีก กลายเป็นห่างเหินกับเพื่อนฝูงไปโดยปริยาย
ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน จากการสำรวจชาวอเมริกันมากกว่า 1,200 คน โดยบริษัทด้านเทคโนโลยีการเงินและเครดิต ‘Self-Financial’ พบว่า ชาวอเมริกันมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 56% ปฏิเสธคำเชิญเข้าร่วมงานสังคมเพื่อประหยัดเงิน ไม่ว่าจะเป็นการออกไปรับประทานอาหารเย็น ดูหนัง หรือไปดริ๊งหลังเลิกงาน ซึ่งการตัดสินใจของคนเหล่านี้ก็นับว่าคุ้มค่ามาก เพราะสามารถประหยัดเงินไปได้เกือบ 1,000 ดอลลาร์ต่อปี
พฤติกรรมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อ ราคาอาหารในร้านอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นประมาณ 2 – 4% จากปีที่แล้ว ตามข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ
ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า การออมเงินช่วยบรรเทาความวิตกกังวลลงได้ก็จริง แต่การอดไปพบปะสังสรรค์เพื่อน ๆ ก็ทำให้เกิดอาการเซ็งได้เหมือนกัน โดยจากผลสำรวจพบว่าชาวอเมริกัน 60% บอกว่า ตอนที่ไถโซเชียลมีเดียก็แอบรู้สึกอิจฉาช่วงเวลาดี ๆ ของคนอื่นอยู่บ้าง
ทว่า FOMO (Fear of Missing Out: อาการของคนที่กลัวการตกข่าว กลัวตกกระแส กลัวการไม่เป็นที่ยอมรับ กลัวไม่ได้เป็นคนสำคัญ) ไม่ใช่ข้อเสียเพียงข้อเดียวจากการปฏิเสธคำชวนเพื่อน ๆ แต่ยังมีงานวิจัยที่ชี้ด้วยว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ ‘ความสุข’ และ ‘อายุยืนยาว’
อย่างที่ ‘นาชิรา ลินตัน’ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน Renewed Wealth Therapy กล่าวว่า การได้เป็นเจ้าของบ้านสักหลัง หรือการชำระหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นความสำเร็จที่น่าทึ่ง แต่คุณจะรู้สึกดีมากขึ้น หากคุณมีใครสักคนที่คุณสามารถบอกเล่าความสำเร็จเหล่านั้นกับคุณ ฃ
“คุณบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่แล้ว คุณชำระหนี้หมดแล้ว แล้วคุณจะฉลองความสำเร็จนี้กับใคร เพราะฉะนั้นจงหาให้เจอว่าความสัมพันธ์ใดที่มีค่าสำหรับคุณ และความสัมพันธ์ใดที่คุณต้องรักษาไว้”
โดยสิ่งที่ ‘อธิติ ศรีกันต์’ นักเขียนด้านจิตวิทยาและความสัมพันธ์ของ CNBC แนะนำสำหรับคนที่อยากจะรักษามิตรภาพด้วย อยากจะเซฟเงินในกระเป๋าด้วย มีทั้งหมด 4 ข้อดังนี้
เมื่อคุณต้องการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง คุณจะต้องดูเงินในกระเป๋าของตัวเอง และแยกให้ออกว่าพื้นที่ใดที่ไม่ได้ทำให้คุณรู้สึกมีความสุข
ในเรื่องความสัมพันธ์ก็เช่นกัน ‘อแมนดา เคลย์แมน’ แพทย์ด้านสุขภาพจิตซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน แนะนำให้ลองสังเกตดูว่า คุณทุ่มเงินไปกับคนที่คุณใช้เวลาด้วยมากน้อยแค่ไหน แล้วคุณคิดว่าเงินที่ทุ่มลงไปนั้นสอดคล้องกับคุณค่าของมิตรภาพที่คนเหล่านั้นมีให้คุณหรือไม่
เธอกล่าวว่า “เมื่อคุณทบทวนการใช้จ่ายทางสังคม ให้ทบทวนถึงสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกดี และคุณชอบใช้เวลากับใครจริง ๆ หรือคุณมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายกับคนเหล่านั้นมากเกินไปหรือไม่? กระบวนการทบทวนตรวจสอบจะช่วยให้คุณสังเกตเห็นความแตกต่างเหล่านี้ได้”
“หรือลองนึกภาพว่าคุณต้องออกไปทานอาหารเย็นราคาแพงกับเพื่อนเดือนละครั้ง แต่เพื่อนคนนั้นกลับทำให้คุณรู้สึกวิตกกังวล บางทีอาจจะดีกว่าหากคุณลดเวลาและลดเงินที่คุณใช้ในการรักษาความสัมพันธ์นี้”
เมื่อคุณปฏิเสธคำเชิญแต่ไม่เปิดเผยเหตุผล ผู้คนอาจจะทึกทักกันไปเอง คุณจึงควรบอกเพื่อนของคุณว่าคุณกำลังพยายามประหยัดเงิน หรือพยายามลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้พวกเขาเข้าใจสถานการณ์อย่างชัดเจน
“เมื่อคุณสื่อสารกับเพื่อนและครอบครัว ให้เปิดใจเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเต็มใจจะทำ บางทีคุณอาจเต็มใจที่จะเข้าร่วมงานสังสรรค์ แต่ไม่อยากไปทานอาหารเย็นก็ได้”
ที่สำคัญ หากคุณไม่รู้ขอบเขตของตัวเอง ก็จะเป็นเรื่องง่ายที่จะถูกชักจูงให้ใช้จ่ายเกินกว่าที่คุณต้องการ
“พยายามวางแผนกิจกรรมลงในปฏิทิน เช่น ออกไปเดินเล่น พูดคุยหรือทำอาหารมื้อเย็นที่บ้านของคุณ เน้นให้การออกไปมีส่วนร่วมทางสังคมอยู่ในรูปแบบที่ราคาไม่แพงนัก เพื่อป้องกันไม่ให้คุณถูกตัดขาดทางสังคม”
‘เบอร์นาเดตต์ จอย’ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยด้วยตนเอง และสามารใช้หนี้ได้ 3 แสนเหรียญสหรัฐ ใช้วิธีลดค่าใช้จ่ายทางสังคมด้วยการจัดงานเล่นเกมเอง โดยเธอจะเชิญเพื่อน ๆ มาที่บ้านและหยิบบอร์ดเกม หรือแม้แต่วิดีโอเกมมาเล่น ซึ่งนับเป็นวิธีที่ประหยัด ทั้งยังได้ใช้เวลาร่วมกับเพื่อน ๆ ด้วย
จอย ซึ่งปัจจุบันบริหารบริษัทให้คำปรึกษาทางการเงินของตนเอง กล่าวว่า แม้ว่าเธอจะรู้สึกสบายใจที่ไม่ต้องประสบปัญหาทางการเงินอีกต่อไป แต่เธอก็ยังคงมีความทรงจำอันน่าประทับใจหลายอย่างในช่วงที่ต้องรัดเข็มขัด
“ช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดบางช่วงของเรา เป็นช่วงที่เราต้องใช้เงินเพื่อชำระหนี้ และเราต้องหาวิธีได้ใช้เวลาร่วมกับคนอื่นไปด้วย” เธอกล่าว
ความจริงที่น่าเศร้าคือ คุณอาจมีอะไรบางอย่างที่อยากทำมาก ๆ แต่ดันไม่มีเงินมากพอ
“สิ่งที่เจ็บปวดมากคือเมื่อมีคนขอให้เราทำอะไรบางอย่าง แต่เราไม่มีเงิน” เคลย์แมนกล่าว
ดังนั้นคุณจึงจำเป็นต้องจัดสรร “กองทุนรับนัดกะทันหัน” เธอกล่าว กองทุนนี้อาจเป็นจำนวนเงินเท่าใดก็ได้ที่คุณรู้สึกว่ามันเหมาะสม ประเด็นคือคุณสามารถตอบรับคำเชิญเข้าร่วมแผนที่ไม่ได้อยู่ในปฏิทินของคุณได้ โดยไม่ต้องเบียดบังงบของคุณจนหมดเกลี้ยง
ทั้งหมดนี้คือ 4 ข้อที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ง่าย ๆ ขอเพียงคุณใส่ความ ‘จริงจัง’ และคำนึงถึงเป้าหมายในอนาคต สุดท้ายอย่าลืมคิดใคร่ครวญให้ดีว่า ความสัมพันธ์ใดคุ้มค่ากับการทุ่มเวลาและลงทุน
เรียบเรียง: พาฝัน ศรีเริงหล้า