24 ก.ย. 2567 | 13:44 น.
KEY
POINTS
เคยสงสัยไหมว่าทำไมมนุษย์ถึงมีความรู้สึก ‘เหยียด’ คนอื่นที่ต่างไปจากตัวเองได้ ทั้งที่ไม่เคยมีความขัดแย้งอะไรเป็นการส่วนตัว บ้างก็รู้สึกภูมิใจ เมื่อทีมที่เราเชียร์ชนะ หรือดีใจจนตัวลอยเมื่อเพื่อนประสบความสำเร็จ ทั้งที่เราไม่มีผลพลอยได้ใด ๆ จากความสำเร็จนั้น หรือแม้แต่ความรู้สึกอายแทนคนชาติเดียวกันที่ทำพฤติกรรมแย่ ๆ แม้ว่าเราไม่จะเคยพบเจอหรือรู้จักคนเหล่านั้นเลยก็ตาม
‘อองรี ทาจเฟล’ (Henri Tajfel) นักจิตวิทยาสังคมชาวโปแลนด์ ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างลงลึก เพื่อหาคำตอบว่าอะไรเป็นเส้นแบ่งให้คนรู้สึกถึงความเป็นพวกเขา – พวกเรา ได้ขนาดนี้ ซึ่งแรงผลักดันในการศึกษาดังกล่าวมาจากเหตุการณ์ในชีวิตจริงของทาจเฟล นั่นคือความสูญเสียครั้งใหญ่ในช่วงสงครามโลก
ทาจเฟลเกิดในครอบครัวชาวยิวในโปแลนด์ แล้วไปร่ำเรียนด้านเคมีที่ฝรั่งเศสจนพูดภาษาฝรั่งเศสได้คล่อง เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนกระทั่งช่วงสงครามโลก ทาจเฟลเองก็ได้ร่วมรบกับกองทัพฝรั่งเศส ก่อนจะถูกจับเป็นเชลยศึกอย่างยาวนานจนสงครามจบลง
แม้เขาจะรอดชีวิตมาได้ แต่ครอบครัวและคนใกล้ชิดของทาจเฟลที่โปแลนด์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะทั้งหมดถูกนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างโหดเหี้ยม และหากย้อนเวลากลับไป ถ้าทาจเฟลไม่ได้ถูกมองเป็นชาวฝรั่งเศส หรือเปิดเผยตัวตนชัดเจนว่าเป็นชาวยิว เขาก็อาจจะไม่มีชีวิตรอดเช่นเดียวกัน
เหตุการณ์ดังกล่าวจึงฝังลึกอยู่ในใจเขาพร้อมกับคำถามที่ว่า ทำไมชีวิตของคนเราจึงแขวนบนเส้นด้ายแห่งความตาย เพียงเพราะการนิยามว่าตัวเองเป็นใคร นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาหันความสนใจมายังจิตวิทยาอย่างเต็มตัว
ในปี 1951 ทาจเฟลย้ายไปที่อังกฤษ พร้อมคว้าทุนการวิจัยในหัวข้อเกี่ยวกับเรื่อง ‘อคติ’ (prejudice) แล้วค่อย ๆ ไต่เต้ามา จนได้เป็นอาจารย์ด้านจิตวิทยาสังคมที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และในปี 1967 เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานด้านจิตวิทยาสังคมที่มหาวิทยาลัยบริสตอล
ทาจเฟลคิดการทดลองหลากหลายรูปแบบ เพื่อหาคำตอบว่าอะไรเป็นเหตุผลให้คนตัดสินใจแบ่งกลุ่มพวกเขา - พวกเรา
การทดลองของเขามีตั้งแต่ การขีดเส้น 8 บรรทัดที่มีความยาวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเขียนกำกับแต่ละบรรทัดเป็น A หรือ B เท่านั้น จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมการทดลองจัดหมวดหมู่ของเส้น ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าความยาวของเส้นเป็นไปตามกลุ่ม A และ B ที่เขียนกำกับไว้ ซึ่งผลลัพธ์นี้สอดคล้องกับแนวคิด ‘การเหมารวมทางสังคม’ (social stereotype) ที่ผู้คนมักจะเหมารวมชาติพันธุ์หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งว่า ‘ผิด’ ไว้ก่อนจากภาพจำและแบบแผนที่สังคมรอบข้างกำหนดให้เป็นเช่นนั้น แม้ว่าลึกลงไปเราล้วนมีความแตกต่างกันในเชิงบุคคลก็ตาม
ส่วนอีก 2 การทดลองที่ใกล้เคียงกันและน่าสนใจไม่แพ้กัน ทาจเฟลให้ผู้เข้าร่วมการทดลองกะประมาณจำนวนจุดที่ปรากฏบนหน้าจอ แล้วหลอกว่าแบ่งกลุ่มตามระดับการตอบถูก - ผิด ส่วนอีกการทดลอง เขาให้เด็ก ๆ มาดูภาพแล้วตอบว่าชอบภาพไหนมากกว่า เพื่อวัด (หลอก ๆ) ว่าเด็กแต่ละคนมีรสนิยมตรงกับสไตล์ศิลปินคนไหนมากกว่า ทั้งที่จริงการแบ่งกลุ่มทั้งหมดนี้เกิดจากการสุ่มมั่ว ๆ โดยไม่ได้มีกฎเกณฑ์แต่อย่างใด
จากนั้นเขาสร้างสถานการณ์ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองช่วยเหลือ หรือให้รางวัลบางอย่างกับคนอื่น ๆ โดยไม่ได้ให้ทำกิจกรรมกลุ่ม และปราศจากการแข่งขันใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น พวกเขาจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการ ‘ให้’ คนอื่นในครั้งนี้
แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับพบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองมีแนวโน้มที่จะให้รางวัลกับ ‘คนกลุ่มเดียวกัน’ มากกว่าคนต่างกลุ่ม เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนพร้อมที่จะเอนเอียงไปหาคนที่ ‘คิดว่า’ เป็นพวกเดียวกัน แม้จะไม่ได้มีผลประโยชน์หรือมีเป้าหมายใด ๆ ร่วมกันเลยก็ตาม ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ถูกอธิบายด้วยทฤษฎี ‘อัตลักษณ์ทางสังคม’ หรือ ‘social identity theory’ ในเวลาต่อมา
ทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคม เสนอโดยทาจเฟล และ ‘จอห์น เทิร์นเนอร์’ (John Turner) ในช่วงทศวรรษ 1970 อธิบายว่า มนุษย์เรานิยามตัวเองจากกลุ่มที่เราเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นสมาชิกอยู่ด้วย เช่น เชื้อชาติ ชนชั้นทางสังคม เพศ ศาสนา โรงเรียน พรรคการเมือง ฯลฯ เพื่อให้เรารู้ว่าตัวเองเป็นใคร และควรปฏิบัติตัวอย่างไร
โดยกระบวนการคิดของมนุษย์เราจะเริ่มมาตั้งแต่ ‘การแบ่งประเภทสังคม’ (Social categorization) ก่อน ว่ารอบ ๆ ตัวเรามีกลุ่มไหนบ้าง แต่ละกลุ่มมีลักษณะอย่างไร พฤติกรรมแบบไหน ใครเป็นสมาชิกในกลุ่มนั้นบ้าง ซึ่งการแบ่งกลุ่มที่ว่านี้ ช่วยลดความซับซ้อนของสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราได้
ขั้นต่อมาคือ ‘การระบุตัวตนทางสังคม’ (Social Identification) คือการจัดหมวดหมู่ตัวเอง ว่าเราเป็นสมาชิกของกลุ่มไหน แล้วนำอัตลักษณ์ บรรทัดฐาน ค่านิยม และพฤติกรรมของคนกลุ่มนั้นมาใช้กับตัวเอง เช่น หากนิยามตัวเองว่าเป็นนักเรียนโรงเรียน A สิ่งที่ตามมาคือการสวมยูนิฟอร์ม ปักชื่อตามกฎของโรงเรียน แล้วมาเข้าแถวยามเช้า ทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามตารางของโรงเรียนนั้น ซึ่งนอกจากเรื่องพฤติกรรมแล้ว ยังส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ไปจนถึงความภูมิใจในตัวเองอีกด้วย
และสุดท้าย คือ ‘การเปรียบเทียบทางสังคม’ (Social Comparison) คือการเปรียบเทียบกลุ่มตัวเองกับคนนอกกลุ่ม เพื่อให้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหนในสังคม ซึ่งการเปรียบเทียบนี้มักมีแนวโน้มลำเอียงไปทางกลุ่มของตนเอง บางคนอาจถึงขั้นปิดตาข้างเดียว ละทิ้งเหตุผล แล้วการกดคนอื่นให้ต่ำลง เพราะถ้ารู้สึกว่า กลุ่มเราเจ๋งกว่า เหนือกว่า ก็ทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกดีกับตัวเองตามไปด้วย
อัตลักษณ์ทางสังคม จึงเป็นเหมือนเครื่องมือระบุตัวตนและช่วยให้มนุษย์เรารู้สึก ‘ปลอดภัย’ จากการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ทั้งยังช่วยให้เรารับรู้ว่าควรทำตัวอย่างไร ใช้ชีวิตแบบไหน
แต่หากปล่อยให้ความรู้สึกนี้เข้มข้นมากเกินไป อย่างไม่เท่าทันตัวเอง เราจะเริ่มมองทุกอย่างเป็นภาพเบลอ ๆ ว่ากลุ่มเราดีไปหมด กลุ่มอื่นแย่ไปเสียหมด จึงเป็นที่มาของการแบ่งแยก ลำเอียง การเหยียดและเลือกปฏิบัติ เพราะละเลยมุมมองในเชิงตัวบุคคลและหลงลืมไปว่า เราอาจะมีบางอย่างที่ ‘คล้าย’ กับคนนอกกลุ่มของตัวเองได้เช่นกัน อย่างคนต่างเชื้อชาติ แต่จริง ๆ ในอีกมุมหนึ่ง เราก็เป็นมนุษย์โลกเหมือน ๆ กัน
แม้ทั้งหมดนี้จะเป็นสัญชาติญาณการเอาตัวรอด แต่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่เรา “ทำอะไรไม่ได้” อย่างสิ้นเชิง เพราะหากสังเกตวิธีการแบ่งกลุ่ม เราจะพบความยืดหยุ่นและจุดแบ่งที่ง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ เรียกง่าย ๆ ว่า “มิตรและศัตรูเราเปลี่ยนแปลงได้แทบจะตลอดเวลา” เราจึงมี ‘อิสระ’ ที่จะนิยามตัวเองใหม่อยู่เสมอ และหากเท่าทันตัวเองมากพอ เราคงฉุกคิดได้บ้างว่า มนุษย์ไม่ใช่สิ่งของที่ถูกผลิตมาจากโรงงานเดียวกัน คน ๆ หนึ่งมีหลากหลายมิติเกินกว่าจะเหมารวมและตัดสินจากภาพจำของตัวเองเพียงเท่านั้น
แต่สุดท้ายแล้ว เราจะเป็นคนควบคุมสัญชาติญาณเหล่านี้ หรือเป็นผู้ถูกสัญชาติญาณเหล่านี้ควบคุม ก็คงขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกแบบไหน
เรื่อง: ธัญญารัตน์ โคตรวันทา
ภาพ: ภาพอองรี ทาจเฟล โดย Olivier Klein จากเว็บไซต์ homosociabilis.blogspot.com
อ้างอิง:
Henri Tajfel Polish-born British social psychologist
Social Identity Theory—Are We the Company We Keep?
Social Identity Theory In Psychology (Tajfel & Turner, 1979)