‘คอนราด ลอเรนซ์’ ผู้ริเริ่มแนวคิด ‘baby schema’ องค์ประกอบ ‘ความน่ารัก’

‘คอนราด ลอเรนซ์’ ผู้ริเริ่มแนวคิด ‘baby schema’ องค์ประกอบ ‘ความน่ารัก’

‘คอนราด ลอเรนซ์’ จากเด็กชายผู้รักสัตว์สู่ผู้ริเริ่มแนวคิด ‘baby schema’ องค์ประกอบ ‘ความน่ารัก’ ที่กระตุ้นความรู้สึกตื่นเต้นและน่าหมั่นเขี้ยว

KEY

POINTS

  • จากเด็กชายผู้รักสัตว์สู่การเรียนปริญญาเอกสาขาสัตววิทยา
  • จุดร่วมของความน่ารัก 6 ประการ 
  • เหตุใดมนุษย์จึงมีความรู้สึกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งน่ารัก

แม้จะอยู่คนละซีกโลก ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมแค่ไหน แต่ทำไมเราจึงมองเด็กเล็ก ๆ ลูกหมาตาแป๋ว หรือเจ้าหมูเด้งดึ๋ง ๆ ในสวนสัตว์ว่าน่ารักน่าเอ็นดู ราวกับเป็นความรู้สึกสากลที่คนทั่วโลกมีร่วมกันโดยมิได้นัดหมาย ?

ย้อนไปในปี 1943 นักสัตววิทยาคนหนึ่งได้เสนอแนวคิด ‘baby schema’ หรือ ‘kinderschema’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความน่ารักขึ้นมา แล้วจุดประกายให้นักวิจัยหลายคนนำไปศึกษาต่อจนมีคำอธิบายที่เล่าถึงเบื้องหลังความน่ารักอีกมากมาย

นักสัตววิทยาคนนี้คือ ‘คอนราด ลอเรนซ์’ (konrad lorenz) เจ้าของรางวัลโนเบลด้านสรีระวิทยาและการแพทย์ ซึ่งเป็นคนเดียวกับผู้คิดค้นทฤษฎีทางจิตวิทยาอันโด่งดังอย่าง ‘พฤติกรรมการเรียนรู้แบบฝังใจ’ (imprinting)

ลอเรนซ์เติบโตมาอย่างไร และแนวคิดของเขาถูกต่อยอดไปสู่การศึกษาเรื่องความน่ารักในแง่มุมใดบ้าง บทความนี้จะมาเล่าให้ฟัง

เด็กชายผู้รักสัตว์

ลอเรนซ์สนใจสัตว์มาตั้งแต่ยังเล็กและเลี้ยงสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ เช่น ปลา นก ลิง สุนัข แมว กระต่าย นอกจากการดูแลสัตว์เหล่านี้ในเวลาว่างแล้ว เขามักจะสังเกตแล้วบันทึกพฤติกรรมของนกลงในไดอารี่ของตัวเอง 

แต่ในช่วงมหาวิทยาลัย เขาจำต้องเลือกเรียนด้านการแพทย์ตามความปรารถนาของพ่อ โดยไม่ละความสนใจจากเรื่องพฤติกรรมของสัตว์ 

เมื่อเติบโตขึ้นลอเรนซ์ จึงสานต่อความชอบนี้ ด้วยการเรียนปริญญาเอกสาขาสัตววิทยา แล้วศึกษาอย่างลงลึกขึ้นไปเรื่อย ๆ

หนึ่งในผลงานอันโด่งดังของเขา เกิดขึ้นในปี 1935 ลอเรนซ์ได้บรรยายถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ของลูกเป็ดและลูกห่านที่ๆยังไม่ฟักไข่ เขาสังเกตว่า ช่วงหนึ่งหลังจากฟักไข่ไม่นาน ลูกเป็ดจะเดินตามพ่อแม่ หรือสิ่งเร้าแรกที่เห็นเพราะคิดว่าเป็นพ่อแม่ของตัวเอง กระบวนการนี้เรียกว่า พฤติกรรมการเรียนรู้แบบฝังใจ (Imprinting) ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเป็ดเมื่อเติบโตขึ้น

แนวคิดของลอเรนซ์ได้พัฒนาความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เกี่ยวกับวิวัฒนาการและรูปแบบพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อการอยู่รอด ซึ่งความช่างสังเกตของเขายังรวมไปถึงแนวคิดเกี่ยวกับความน่ารักของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘เด็กทารก’ อีกด้วย

จุดร่วมของความน่ารัก

ในปี 1943 ลอเรนซ์เสนอแนวคิดที่เรียกว่า Kindchenschema หรือ baby schema โดยเสนอว่า เมื่อพิจารณาจากหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ลักษณะทางกายภาพที่กระตุ้นความรู้สึกตื่นเต้นและน่าหมั่นเขี้ยวนั้นมีจุดร่วมบางอย่าง ได้แก่ 1.หัวกลมและโตเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว 2.หน้าผากใหญ่ยื่นออกมา 3.ตาโตเมื่อเทียบกับใบหน้าและอยู่ต่ำกว่าเส้นกึ่งกลางศีรษะ 4.มีแก้มยุ้ย ๆ หรือแก้มกลม ๆ ยื่นออกมา 5.รูปร่างกลม 6.ผิวสัมผัสนุ่มและยืดหยุ่น

เชื่อว่าหลายคนอ่านถึงข้อหกแล้วภาพแรกที่โผล่ขึ้นมาคือ ‘เจ้าหมูเด้ง’ สุดน่ารัก หรือเด็กทารกแก้มตุ่ยน่าเอ็นดู ซึ่งลักษณะเหล่านี้ยังพบได้ในการ์ตูน ของเล่น ตุ๊กตา และสรรพสิ่งแห่งความน่ารักรอบตัวเรา 

แนวคิดของลอเรนซ์ได้ถูกนำมาต่อยอดในการทดลองและงานวิจัยหลากหลายรูปแบบในเวลาต่อมา หนึ่งในนั้นคือ การศึกษาที่ฉายภาพของทารกกับภาพของผู้ใหญ่ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองดู แล้วพิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับการให้รางวัลหรือความเพลิดเพลินใจ โดยผลการทดลองเผยให้เห็นว่า ใบหน้าของเด็กทารกกระตุ้นการตอบสนองของสมองส่วนนี้อย่างรุนแรงและรวดเร็วมากกว่าเมื่อดูใบหน้าของผู้ใหญ่ 

นอกจากนี้ ในปี 2018 ผลการศึกษาของทีมนักจิตวิทยาและนักประสาทวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้เผยให้เห็นถึงกลไกทางประสาทและสมองที่เกิดขึ้น โดยอาสาสมัครจะให้คะแนนความน่ารักและบรรยายถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากภาพที่เห็น พร้อมสวมเครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ผลปรากฏว่าภาพลูกสัตว์และภาพทารก ต่างก็ได้รับการโหวตให้คะแนนมากที่สุด ส่วนคลื่นสมองขณะที่มองภาพเหล่านี้ มีความเคลื่อนไหวในส่วนระบบประมวลผลทางอารมณ์ (emotional systems) รวมทั้งระบบที่ทำหน้าที่ให้รางวัลและสร้างความสุขเพลิดเพลิน (reward systems) ไปพร้อมกัน

น่ารักเพื่ออยู่รอด ?

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือเหตุใดมนุษย์จึงมีความรู้สึกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งน่ารัก แถมยังมีการตอบสนองแตกต่างกันออกไป บางคนยิ้ม บางคนอยากปกป้องดูแล บ้างก็อยากจะบีบ ๆ แก้มดูสักหน 

คำตอบส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัตถุที่น่ารักหรือน่ากอด กระตุ้นสัญชาตญาณการเป็น ‘ผู้ดูแล’ ของเรา ซึ่งเคยมีงานวิจัยที่ผู้เข้าร่วมการทดลองได้ดูภาพที่มีองค์ประกอบของความน่ารัก กับรูปภาพที่ไม่มีองค์ประกอบนั้น ก่อนจะถูกขอให้ลากเส้นตามภาพด้วยเมาส์ ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ได้ชมรูปภาพน่ารักเป็นเวลานานที่สุด มีผลลัพธ์แม่นยำที่สุด ซึ่งการตอบสนองนี้อาจสะท้อนถึงการที่ผู้คนมองความน่ารัก เป็นสิ่งที่ไร้ทางช่วยเหลือและต้องการความช่วยเหลือ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเขาจะรู้สึกว่าต้องปกป้องและระมัดระวังเป็นพิเศษ จนเกิดการตอบสนองที่เกี่ยวข้องกับช่วยเหลือดูแล ซึ่งในแง่วิวัฒนาการ ก็คือการทำให้สิ่งมีชีวิตนั้น ๆ อยู่รอดได้มากขึ้น

โดยเฉพาะในมนุษย์ที่สัญชาติญาณนี้อาจเข้มเข้นเป็นพิเศษ เพราะมีช่วงวัยเด็กอันแสนเปราะบางอย่างยาวนานมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ อย่างม้าและวัวที่ใช้เวลาหลังคลอดไม่นานก็สามารถเดินได้ หรือน้องหมา น้องแมว ที่ผ่านไปไม่นานก็เติบโตเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว ขณะที่มนุษย์ใช้เวลาหลักปีกว่าจะค่อย ๆ เดินได้ แล้วเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ช่วงวัยในแต่ละช่วง ดังนั้น เด็ก ๆ จึงมักจะมีหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูมากกว่าผู้ใหญ่ เพื่อกระตุ้นสัญชาติญาณการดูแลและป้องกันให้ตัวเองปลอดภัย เพราะต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ ทั้งพ่อแม่ ปู่ ย่า ตายาย ขณะเดียวกันคนที่หน้าเด็ก หรือผู้ใหญ่ที่ลักษณะภายนอกอ่อนกว่าวัย ก็ดูเหมือนจะส่งผลต่อการรับรู้ต่อผู้ใหญ่ด้วยกัน โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว เช่น การมองว่าคน ๆ นี้ดูเป็นมิตร เข้าถึงง่าย ไม่น่าเกรงขามและควรได้รับการปกป้องดูแล 

เรื่องราวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของพฤติกรรมแสนจะธรรมดารอบตัวเรา ซึ่งหากตั้งใจสังเกตอีกนิด ตั้งคำถามอีกหน่อย ก็อาจจะทำให้เกิดแนวคิดและการทดลองที่นำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ ๆ อีกมากมาย เช่นเดียวกับเรื่องราวของลอเรนซ์และการต่อยอดแนวคิดของเขาสู่งานวิจัยหลากหลายรูปแบบทั้งหมดนี้

 

เรื่อง: ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

อ้างอิง: 

Konrad Lorenz Austrian zoologist

A Professor of ‘Cute Studies’ Explains Why We Love Babies in Glasses

Kindchenschema: The science of cute

The code for cuteness

ผู้ใหญ่กว่าครึ่ง “มันเขี้ยว” อยากบีบขยี้สิ่งน่ารักจุ๋มจิ๋มให้หมดโลก

จะเกิดอะไรขึ้น? หาก ‘ลูกไก่’ คิดว่า ‘แม่เป็ด’ เป็นแม่ที่แท้จริงของมัน