19 พ.ย. 2567 | 14:01 น.
KEY
POINTS
หากมองเผิน ๆ การทำงานเสร็จช้าเพราะผัดวันประกันพรุ่ง ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่เกิดจากการจัดเวลาไม่ดี จัดลำดับความสำคัญไม่ได้ แต่ในมุมของนักจิตวิทยาอย่าง ‘ศาสตราจารย์ทิม พีชิล’ (Tim Pychyl) กลับมองว่า ต้นตอแท้จริงของพฤติกรรมดังกล่าวอาจอยู่ลึกลงไปกว่านั้น
ทิม พีชิล คืออดีตอาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Carleton ประเทศแคนาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับการผัดวันประกันพรุ่ง แม้ตอนนี้จะเกษียณจากการสอนมาแล้ว แต่เขาได้ฝากผลงานไว้มากมายทั้งงานวิจัย บทสัมภาษณ์ งานเขียนในเว็บไซต์ psychologytoday.com รวมทั้งเป็นเจ้าของผลงานการเขียนหนังสือ Solving the Procrastination Puzzle ซึ่งนับว่าผลงานของเขาและทีมที่ร่วมวิจัยกันมา ช่วยให้เราได้เข้าใจเรื่องการผัดวันประกันพรุ่งในอีกแง่มุมหนึ่งได้มากขึ้น
พีชิลนิยาม ‘การผัดวันประกันพรุ่ง’ ว่า ไม่ได้หมายถึง การหลงลืมทำสิ่งนั้นหรือจัดลำดับความสำคัญผิดพลาด แต่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ
“การผัดวันประกันพรุ่ง คือการที่เราเลื่อนเวลาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกไปด้วยความตั้งใจและเต็มใจ แม้จะรู้ว่าความล่าช้านี้อาจส่งผลเสียต่อเราก็ตาม” นี่คือคำอธิบายในหนังสือ Solving The Procrastination Puzzle ของเขา
แม้รู้อยู่เต็มอกว่า สุดท้ายก็ต้องกลับไปเร่งทำแล้วส่งผลเสียตามมามากมาย แต่ทำไมคนเรายังเลือกทำเช่นนั้น ?ไม่ใช่ทำไม่ทัน แต่ตั้งใจไม่ทำ
“การผัดวันประกันพรุ่ง อาจไม่ใช่ปัญหาการจัดการเวลา แต่เป็นปัญหาด้านการจัดการอารมณ์” คือคำตอบของพีชิล
เขาอธิบายว่า พฤติกรรมนี้เป็นกลยุทธ์การรับมือกับ ‘อารมณ์เชิงลบในระยะสั้น’ โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า การผัดวันประกันพรุ่งเชื่อมโยงกับอารมณ์ด้านลบ เช่น ความหงุดหงิดและขุ่นเคืองใจ เมื่อคนเราไม่สามารถรับมือกับความเครียดตรงหน้าได้
ความเครียดที่ว่านี้ อาจมาจาก ‘สิ่งที่เราต้องทำ’ เช่น งานที่เราไม่ชอบ กิจกรรมที่เราต้องฝืนใจทำ หรือ ‘ความไม่มั่นคงภายในจิตใจ’ เช่น ความไม่มั่นใจในตัวเอง ความวิตกกังวล การนับถือตัวเองต่ำ (low self-esteem) ไปจนถึงการรักความสมบูรณ์แบบ (perfectionism) ดังนั้นเราจึงพยายามหลีกเลี่ยงความรู้สึกดังกล่าว ด้วยวิธีที่ง่ายและเร็วที่สุด นั่นก็คือ…ไม่ต้องทำมันซะเลย
หากเล่าให้เห็นภาพขึ้นอีกนิด คงเหมือนเวลาเรานั่งลงบนเก้าอี้ เปิดคอมเตรียมทำงานที่วางแผนเอาไว้ แต่แล้วก็ฉุกคิดขึ้นมาได้
“เบื่องานนี้จัง แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว”
“เราจะทำมันออกมาได้ดีไหม คนอื่นจะว่ายังไงบ้างนะ”
“ถ้าทำพลาดขึ้นมาล่ะ จะทำยังไงดี”
“กลัวจัง คราวก่อนฝังใจกับเรื่องนี้จนไม่อยากแตะเลย”
และอีกสารพัดความคิดบั่นทอนหัวใจจนคิ้วขมวด หน้ามุ่ย รู้สึกแย่ตั้งแต่ยังไม่ลงมือทำ จึงหันไปหยิบมือถือมาไถฟีดดูคลิปแมวสักนิด หัวเราะกับคลิปตลกสักหน่อย หรือลุกมาทำเรื่องที่ไม่ได้อินเท่าไร เช่น ขัดห้องน้ำ กวาดบ้าน ทำความสะอาดห้อง ทั้งที่ปกติไม่ใช่คนชอบงานบ้าน แต่อย่างน้อยขอทำอะไรก็ได้ แค่ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็พอ รู้ตัวอีกทีก็ยาวนานเป็นชั่วโมง จนไม่ได้ลงมือทำในสิ่งที่ควรทำสักที
แม้การผัดวันประกันพรุ่งฟังดูเหมือนเป็นตัวช่วยให้เราได้หลีกหนีความรู้สึกแย่ ๆ ตรงหน้า แต่เราหลีกหนีมันได้อย่างแท้จริงหรือเปล่า ?
หนึ่งในงานวิจัยของพีชิล ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Social Behavior and Personality ในปี 2000 พบว่า กลุ่มนักเรียนที่ผัดวันประกันพรุ่ง รายงานว่าพวกเขารู้สึกผิด อับอายและวิตกกังวลมาก ๆ การผัดวันประกันพรุ่งจึงไม่ใช่เพียงงานที่กลายเป็นดินพอกหางหมู แต่ยังนับเป็นการสะสมความทุกข์เพิ่มขึ้น จนตามมาด้วยปัญหาสุขภาพกายและใจได้ในอนาคต
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้ความโล่งใจนั้น ยังซ่อน ‘ความกลัว’ เกี่ยวกับงานที่ถูกดองเอาไว้ นั่นหมายความว่า ผู้ที่ผัดวันประกันพรุ่งสามารถ ‘รับรู้’ ถึงผลลัพธ์แย่ ๆ จากสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพียงแต่ไม่สามารถเอาชนะแรงกระตุ้นในตัวเองได้
ในมุมของ ดร. ฮาล เฮอร์ชฟิลด์ นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ที่ U.C.L.A. Anderson School of Management ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า การเลี่ยงความทุกข์ในระยะสั้น ๆ เป็นสัญชาติญาณหนึ่งของมนุษย์
“เราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้คิดล่วงหน้าไปถึงอนาคตอันไกลโพ้น เพราะเราต้องมุ่งเน้นการดูแลตัวเองในปัจจุบัน”
เมื่อมนุษย์เรามักรับรู้ตัวตนในอนาคต เหมือนกับ ‘คนแปลกหน้า’ ดังนั้นการรับรู้ปัญหาที่ตามมาในระยะยาว จึงเหมือนกับมองปัญหาของคนอื่น (ซึ่งจริง ๆ ก็คือตัวเราในวันพรุ่งนี้หรือชั่วโมงถัดไป) โดยปกติแล้ว เราจึงไม่ค่อยได้มานั่งคิดถึงผลกระทบที่ตามมาในอนาคต มากเท่าการวิ่งหนีความทุกข์ในปัจจุบัน จึงกลายเป็นที่มาของ ‘การผัดวันประกันพรุ่ง’ นั่นเอง
เมื่อเป็นเรื่องของอารมณ์ ทางออกของการผัดวันประกันพรุ่ง ตามนิยามของพีชิล จึงเป็นการย้อนกลับไปยังรากของปัญหา นั่นคือการเผชิญหน้า แล้วรับมือกับความรู้สึกทางลบของเรา โดยเริ่มจากมีสติ “รับรู้” ว่าเรากำลัง “ไม่อยากทำสิ่งนี้” โดยไม่ตัดสินความรู้สึกดังกล่าว
จากนั้นค่อย ๆ เตือนตัวเองว่า งานนี้สำคัญอย่างไร การลงมือทำตอนนี้จะดีกับเราอย่างไรบ้าง เพื่อให้ ‘ตัวเองในอนาคต’ เข้ามาอยู่ใกล้กับปัจจุบันมาขึ้น จากนั้นโฟกัสไปยัง ‘สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรก’ แล้วลงมือทำ หรืออาจจะเขียนเป็นข้อย่อย ๆ ออกมาเหมือน mission เล็ก ๆ แต่ละด่าน เพื่อให้ภาพหมอกฟุ้งในหัวออกมาเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น และขอเพียงเราได้ลงมือทำเรื่องเล็ก ๆ ‘อย่างแรก’ ไม่ว่าจะก้าวขาออกจากบ้าน อ่านบรรทัดแรกในหนังสือ เริ่มเคาะแป้นพิมพ์ตัวแรก จรดปากการ่างภาพขึ้นมา โดยยังไม่ต้องนึกถึงภาพรวมหรือผลลัพธ์สุดท้าย ก็นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญต่อการเอาชนะความผัดวันประกันพรุ่งแล้ว
“เมื่อเราเห็นความคืบหน้าในงานใดงานหนึ่ง เราจะรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น และลงมือทำงานนั้นต่อไปได้ง่ายขึ้น” พีชิลอธิบาย
ส่วนคนที่พลั้งเผลอผัดวันประกันพรุ่งไปแล้ว พีชิลกล่าวว่า วิธีรับมือและป้องกันการทำซ้ำในครั้งถัดไป คือ ‘การให้อภัยตัวเอง’
แต่ต้องบอกก่อนว่า การให้อภัยตัวเอง เป็นคนละเรื่องกับการละเลยปัญหา หรือปลอบใจตัวเองให้ลืม ๆ มันไป เพราะถ้าเราให้อภัย แสดงว่าเรามองเห็นและยอมรับว่า ‘ข้อผิดพลาด’ รวมทั้ง ‘อยากแก้ไข’ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
เรื่องนี้ยืนยันได้จากงานวิจัยของพีชิลในปี 2010 ที่พบว่านักศึกษาที่สามารถให้อภัยตัวเองสำหรับการผัดวันประกันพรุ่งเมื่ออ่านหนังสือสอบครั้งแรก จะผัดวันประกันพรุ่ง ‘น้อยลง’ เมื่ออ่านหนังสือสอบครั้งต่อไป เพราะเมื่อกลับมาเจอสิ่งเร้าเดิม พวกเขาจะไม่รู้สึกหลอน ๆ ว่าคราวก่อนยังรู้สึกผิดกับตัวเองเรื่องนี้อยู่เลย แต่กล้าเผชิญหน้าด้วยความคิดที่ว่า อยากทำมันให้ดีขึ้น และพร้อมลุยต่อแทนที่จะหลีกเลี่ยงงานนั้น ๆ
เรื่องราวทั้งหมดจึงสะท้อนให้เห็นว่า ‘การผัดวันประกันพรุ่ง’ อาจเป็นมากกว่าสิ่งที่บ่งบอกถึงความขี้เกียจ หรือปัญหาการจัดเวลาของใครบางคน แต่ยังสะท้อนถึงสภาวะอารมณ์หรือความเครียดต่อสิ่งที่เรากำลังทำได้อีกด้วย ทั้งยังชวนให้เราได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่า การผัดวันประกันพรุ่งคราวนี้ เป็นเพราะเรายังมีเวลาอีกมากมาย หรือเพราะเรากำลังวิ่งหนีความรู้สึกแย่ ๆ บางอย่างอยู่กันแน่นะ ?
เรื่อง: ธัญญารัตน์ โคตรวันทา
ภาพ: Pexels
อ้างอิง:
Self-Forgiveness Reduces Procrastination
I forgive myself, now I can study: How self-forgiveness for procrastinating can reduce future procrastination
Why Wait? The Science Behind Procrastination
Why You Procrastinate (It Has Nothing to Do With Self-Control)
Why procrastination is about managing emotions, not time
Procrastination? I'll get back to you...
Procrastination is an emotional problem