‘Optimism Bias’ การมองโลกในแง่ดีเกินจริง ที่อธิบายว่าทำไมเราถึงออมเงินไม่ได้

‘Optimism Bias’ การมองโลกในแง่ดีเกินจริง ที่อธิบายว่าทำไมเราถึงออมเงินไม่ได้

การมองโลกในแง่ดีเกินจริง หรือ Optimism Bias สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่มักผัดวันประกันพรุ่งในการวางแผนการเงินและสุขภาพ เพราะคิดว่า “ยังมีเวลาอีกเยอะ” ทั้งที่ความเป็นจริงอาจไม่เป็นอย่างที่คิด

KEY

POINTS

  • งานวิจัยของ ‘ทาลิ ชารอท’ พบว่าสมองมนุษย์มีกลไกตอบสนองต่อข่าวดี-ข่าวร้ายโดยอัตโนมัติ โดยจะรับข้อมูลข่าวดีได้ง่ายกว่า แต่มักปฏิเสธหรือไม่ค่อยเชื่อข้อมูลข่าวร้าย แม้จะเป็นข้อมูลทางสถิติที่น่าเชื่อถือก็ตาม 
  • การศึกษาของ ‘ฮาล เฮอร์ชฟิลด์’ แสดงให้เห็นว่าสมองมนุษย์มองตัวเองในอนาคตเหมือนเป็น "คนแปลกหน้า" ซึ่งอธิบายได้ว่าทำไมคนหนุ่มสาวจึงมักไม่ให้ความสำคัญกับการวางแผนเพื่ออนาคต ทั้งที่รู้ว่าควรทำ 
  • Optimism Bias มีประโยชน์ในแง่ของการช่วยให้มนุษย์มีกำลังใจดำเนินชีวิตต่อไป แต่ควรสร้างสมดุลระหว่าง ‘ความหวัง’ และ ‘ความเสี่ยง’ ด้วยการใช้ข้อมูลจริง ตัวเลข และสถิติมาช่วยในการวางแผนอนาคตให้สมเหตุสมผลมากขึ้น

ทั้งที่รู้ว่าควรวางแผนการเงิน และคิดเผื่อวัยเกษียณ แต่พอจะลงมือศึกษาหาข้อมูล วางแผนเก็บออม กลับรู้สึกขึ้นมาว่า “เอาไว้ก่อนแล้วกัน ยังมีเวลาอีกเยอะ เดี๋ยวถึงวันนั้นทุกอย่างก็คงลงตัวเอง” หรือบางทีที่อยากดูแลสุขภาพให้ดี แต่ร่างกายยังสบายดี ไม่มีทีท่าว่าจะป่วยไข้ เลยรู้สึกว่า “พรุ่งนี้ค่อยทำก็ได้” แล้วปล่อยให้ตัวเราในอนาคตเป็นคนรับมือแทน

มองเผิน ๆ เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นความขี้เกียจ แต่อีกมุมหนึ่งก็คือธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะมองอนาคตในแง่ดีไว้ก่อน และอาจจะดีเกินความเป็นจริงไปสักหน่อย ซึ่งวิธีการคิดในรูปแบบนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘Optimism Bias’ 

เมื่อสมองอยากให้มองบวก

Optimism Bias คือการประเมินว่าในวันพรุ่งนี้ หรือหลายสิบปีข้างหน้า จะมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นกับเรามากกว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริง และประเมินว่าจะเกิดเหตุการณ์แย่ ๆ กับตัวเองในระดับที่ต่ำกว่าความเป็นไปได้ ดังนั้นไม่ว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ สถานการณ์บ้านเมืองไม่สู้ดี หรือข่าวภัยพิบัติมากมายแค่ไหน แต่ลึก ๆ ในใจคนเราก็มักจะคิดว่า เรื่องเลวร้ายเหล่านั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นกับเราหรอก หรือหากเกิดขึ้นก็มีโอกาสน้อยมาก ๆ ที่จะวกมากระทบถึงตัวเราแบบเต็ม ๆ ทั้งที่ตามสถิติ หรือความน่าจะเป็นจริง ๆ อาจไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิดก็เป็นได้

หนึ่งในคนที่ศึกษาและอธิบายเรื่องนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจ คือ ‘ทาลิ ชารอท’ (Tali Sharot) นักประสาทวิทยาและศาสตราจารย์ด้าน cognitive neuroscience ที่ University College London และ MIT เจ้าของคลิป TED Talk ที่ว่าด้วยเรื่อง Optimism Bias เมื่อปี 2012 ซึ่งมีผู้เข้าชมนับล้านครั้ง โดยชารอทอธิบายด้วยงานวิจัยที่ให้คนกลุ่มหนึ่งประเมินความเป็นไปได้ที่จะพบเจอเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต เช่น คิดว่ามีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหน แล้วค่อยเฉลยค่าเฉลี่ยของความเป็นไปได้ให้ฟัง จากนั้นจึงถามอีกครั้งว่ายังมองเหมือนเดิมหรือเปล่า 

“ถ้ามีคนหนึ่งพูดว่า โอกาสที่ฉันอาจป่วยเป็นมะเร็งอยู่ที่ร้อยละ 50 แล้วเราเฉลยข่าวดีคือ ค่าเฉลี่ยอยู่เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ครั้งต่อไป พวกเขาก็จะบอกว่าโอกาสที่ตัวเองจะป่วยน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 35 แทน แต่ถ้าใครคนหนึ่งพูดว่า โอกาสป่วยเป็นมะเร็งของฉันอยู่ที่ร้อยละ 10 แล้วเราเฉลยว่าข่าวร้ายคือค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 30 ต่างหาก ครั้งต่อไป พวกเขาจะบอกว่า ฉันลองคิด ๆ ดูแล้ว มันน่าจะเป็นประมาณร้อยละ 11 นะ”  ชารอท อธิบายบนเวที TED talk พร้อมกับบอกว่า เมื่อใช้วิธี MRI สมองแล้วพบว่ากลไกการตอบสนองต่อข่าวดี-ข่าวร้ายของสมองก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันนี้แบบอัตโนมัติ ไม่ว่าโดยพื้นฐานคุณจะเป็นคนมองโลกในแง่ดีหรือไม่ก็ตาม

ส่วนอีกงานวิจัยของ ‘ฮาล เฮอร์ชฟิลด์’ (Hal Hershfield) นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ด้านการตลาดและการตัดสินใจเชิงพฤติกรรม ได้ใช้วิธีสแกน fMRI กับผู้เข้าร่วมการทดลอง ซึ่งพบว่ารูปแบบของระบบประสาท เมื่อผู้คนเล่าถึงตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้าคล้ายคลึงกับเวลาเล่าถึงคนแปลกหน้า แต่กลับแตกต่างจากเวลาที่พวกเขาเล่าถึงตัวเองในปัจจุบัน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเรามองตัวเองในอนาคตไม่ต่างจาก ‘คนแปลกหน้า’ คนหนึ่งเลยทีเดียว 

เรื่องนี้อาจเป็นคำตอบว่า ทำไมการเก็บออมเพื่ออนาคต หรือการดูแลกายและใจเพื่อให้แก่ไปแบบสุขภาพดี จึงเป็นเรื่องที่คนหนุ่มสาวฟังแล้วก็พยักหน้าเห็นด้วย แต่หลายคนยังรู้สึกไกลตัวอยู่ดี และมีน้อยคนที่จะเริ่มลงมือทำอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนี้ 

เห็นได้จากบทความใน the decisionlab.com ที่เล่าถึงสถิติของทาง Prudential ซึ่งพบว่า ผู้คนกว่าร้อยละ 51 เกษียณ ‘ก่อน’ อายุจริงที่วางแผนไว้ และมีเพียงร้อยละ 23 เท่านั้นที่เกษียณออกมาด้วยความสมัครใจและมีเงินเก็บเพียงพอ นอกนั้นเกษียณด้วยเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน เช่น ถูกเลิกจ้าง หรือเจอปัญหาสุขภาพจนต้องออกจากงาน อีกทั้งผู้เข้าร่วมกว่า 44% ยังกล่าวว่า ค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายจริง ๆ นั้นสูงลิ่วกว่าที่คิดและจินตนาการเอาไว้ไม่น้อย

แม้ว่าการวางแผนและนึกถึงความเสี่ยงในอนาคตเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลดี แต่เหตุใดสมองของเราดูเหมือนจะไม่ให้ความร่วมมือสักเท่าไร ?

เหตุผลที่การมองอนาคตในแง่ดี

ชารอท อธิบายว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงไม่กี่ชนิดที่ตระหนักดีว่าในอนาคตจะมีวันสุดท้ายของลมหายใจและสิ่งเลวร้ายอื่น ๆ รอเราอยู่ ซึ่งถ้าสมองของเราคิดแค่มุมนี้ อาจทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และกิจกรรมที่จำเป็นต่อการเอาชีวิตรอดอาจหยุดชะงัก ดังนั้นการมี Optimism Bias ระหว่างวิวัฒนาการของเรา จึงเป็นตัวช่วยสร้างสมดุลให้เราตระหนักรู้ถึงจุดจบ ไปพร้อมกับการมีแรงจูงใจให้ใช้ชีวิตต่อไปได้ เพราะ Optimism Bias ช่วยลดระดับความเครียด ความวิตกกังวลของเราในปัจจุบัน และทำให้เรามีความหวังเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนอีกมากมายในอนาคต เห็นได้จากการศึกษากลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจที่พบว่า คนมองโลกในแง่ดีมีแนวโน้มที่จะทานวิตามิน ทานอาหารไขมันต่ำ และออกกำลังกายมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มองโลกในแง่ดี ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจโดยรวมได้ และการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง พบว่าผู้ป่วยที่มองโลกในแง่ร้ายที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี มีแนวโน้มเสียชีวิตภายใน 8 เดือนมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มองโลกในแง่ร้ายซึ่งมีสุขภาพ สถานะ และอายุเริ่มต้นเท่า ๆ กัน 

ดังนั้นการมองบวกจึงยังสำคัญและเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งการตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้ก็นับเป็นก้าวแรกที่ทำให้เราได้กลับมาฉุกคิด และทบทวนอีกครั้งว่าภาพอันสวยงามที่เราวาดไว้ ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางการเงิน สุขภาพและคุณภาพชีวิตนั้น เป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน หรือถ้าอยากเห็นภาพชัดขึ้นไปอีก ก็อาจจะใช้ข้อเท็จจริง ตัวเลข สถิติ และการคำนวณมาเป็นตัวช่วยดึงให้เราเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น และวางแผนอนาคตได้ดีขึ้น 

เพราะสุดท้ายแล้ว หัวใจสำคัญคงไม่ใช่การเลิกมองบวก หรือปล่อยให้จินตนาการพัดพาเราไปยังโลกอันแสนฟุ้งฝัน จนหลงลืมความเป็นจริง หากแต่เป็นการสร้างสมดุลระหว่าง ‘ความหวัง’ และ ‘ความเสี่ยง’ ในระยะยาว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามองอนาคตในแง่ดีอย่างมีสติไปพร้อม ๆ กันนั่นเอง

 

เรื่อง: ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

ภาพ: Pexels

 

อ้างอิง:

"Why Optimism Is Good for Many Things, but Not Pension Saving." The Decision Lab, https://thedecisionlab.com/insights/finance/why-optimism-is-good-for-many-things-but-not-pension-saving. Accessed 5 Feb. 2025.

Sharot, Tali, et al. "How Unrealistic Optimism Is Maintained in the Face of Reality." Current Biology, vol. 21, no. 23, 2011, pp. 1-4, https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0960982211011912. Accessed 5 Feb. 2025.

Cherry, Kendra. "What Is the Optimism Bias?" Verywell Mind, https://www.verywellmind.com/what-is-the-optimism-bias-2795031. Accessed 5 Feb. 2025.

Sharot, Tali. "Tali Sharot: The Optimism Bias (Extract)." The Guardian, 1 Jan. 2012, https://www.theguardian.com/science/2012/jan/01/tali-sharot-the-optimism-bias-extract. Accessed 5 Feb. 2025.

Sharot, Tali. "The Optimism Bias." TED, https://www.ted.com/talks/tali_sharot_the_optimism_bias/transcript. Accessed 5 Feb. 2025.