‘Nostalgia Bias’ ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา เบื้องหลังอาการ ‘คิดถึงแฟนเก่า’

‘Nostalgia Bias’ ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา เบื้องหลังอาการ ‘คิดถึงแฟนเก่า’

เหตุใดเรามักคิดถึงแต่เรื่องดี ๆ กับแฟนเก่า? ‘Nostalgia Bias’ หรืออคติแห่งความโหยหาอดีต อาจเป็นคำตอบ เมื่อสมองเลือกจดจำแต่ความทรงจำที่สวยงาม จนบิดเบือนความจริง และทำให้เรารู้สึกว่าอดีตดีกว่าปัจจุบัน

KEY

POINTS

  • Nostalgia Bias หรือ อคติแห่งความโหยหาอดีต ทำให้บิดเบือนความทรงจำในอดีตสวยงามกว่าความเป็นจริง
  • ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด Nostalgia Bias เช่น Selective Memory, Emotional Weight และ Contrast Effect เป็นต้น
  • แการคิดถึงแฟนเก่าอาจเป็นเพียงกลไกทางสมองมากกว่าความรู้สึกที่แท้จริง

“ได้แต่จดจำวันที่ดีที่มีเธออยู่ในหัวใจ
ต่อให้มันจะเจ็บเท่าไรแค่มีเธออยู่ในหัวใจ
กอดบาดแผลนี้ไว้ให้ดี ไม่มีวันเลือนหาย
แม้ทรมานแค่ไหน ขอแค่ไม่ลืมเธอไปเท่านั้นพอ”

พลันที่เพลงเศร้าชวนให้คิดถึงวันวานเช่น ‘จดจำ’ ของ ‘Only Monday’ ลอยเข้ามาในหัว  อยู่ดี ๆ หน้า ‘แฟนเก่า’ ที่เลือนหายไปจากความทรงจำนานแล้วก็ปรากฏชัดขึ้น… ชัดขึ้น… ให้ความรู้สึกเหมือนเพิ่งวางหูจากกัน เหมือนเพิ่งแยกจากกันเมื่อกี้นี้  หลังจากนั้นสมองก็ฉายย้อนภาพความทรงจำแสนสุขที่เราสองเคยมีร่วมกันในอดีต 

อาการ ‘คิดถึงแฟนเก่า’ กำเริบฉับพลัน 

ผลข้างเคียงคือในหูจะได้ยินเสียงแว่ว ๆ ทำนองว่า

“จริง ๆ ตอนนั้นก็ดีนะ”
“ถ้าตอนนี้เรายังอยู่ด้วยกันก็คงจะดี”

ความรู้สึกอบอุ่นใจเมื่อนึกถึงช่วงเวลาดี ๆ ในตอนนั้น ทำให้เรา ‘อาลัยอาวรณ์’ หรือ ‘โหยหา’ วันเวลาเก่า ๆ จนแว่บหนึ่งเกิดความคิดขึ้นมาว่า “แฟนเก่าดีกว่าคนที่เราคบตอนนี้” หรือ “ช่วงเวลานั้นมันดีที่สุดแล้ว”

ซึ่งอาจจะ ‘จริง’ หรือ ‘ไม่จริง’ ก็ได้ 

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ความทรงจำที่เรากำลังรำลึก จะถูกบิดเบือนด้วยการมองอดีตด้วยความ ‘สวยงามเกินความเป็นจริง’ หรือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘Nostalgia Bias’ จนทำให้เรารู้สึกว่าอดีต ‘ดีกว่า’ ปัจจุบัน ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป

‘Nostalgia Bias’ หรือ ‘อคติแห่งความโหยหาอดีต’ คือการที่ผู้คนมีแนวโน้มจะมองอดีตว่าสวยงามกว่าปัจจุบัน แม้ความจริงเหตุการณ์ในตอนนั้นอาจไม่ดีเหมือนที่เราจำได้ก็ตาม ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากสมองของเรามีวิธีการบันทึก และประมวลผลความทรงจำที่ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อมี ‘อารมณ์’ เข้ามาเกี่ยวข้อง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความอคติในการมองอดีต คือ ‘Selective Memory’ หรือ ‘กระบวนการคัดกรองความทรงจำของสมอง’ ซึ่งอธิบายว่า ผู้คนมักจะลืมความทรงจำที่ไม่ดี และเลือกเก็บแค่ประสบการณ์ที่ดีเอาไว้ เป็นเหตุผลที่ทำให้เรานึกถึงแต่ช่วงเวลาที่มีความสุขกับแฟนเก่า แต่ลืมช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยปัญหาและความขัดแย้ง ทำให้ไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตได้

การเลือกรับความทรงจำยังเกี่ยวข้องกับทฤษฎี ‘Peak-End Rule’ ที่อธิบายว่า คนเรามักจะเลือกจำแค่ ‘จุดพีค’ ซึ่งมีทั้งร้ายและดี และ ‘จุดจบ’ ของเหตุการณ์ มากกว่าความจริงทั้งหมดของความสัมพันธ์ ทำให้เมื่อเรานึกถึงแฟนเก่า เรามักจำได้เพียงช่วงเวลาที่โรแมนติก และลืมช่วงเวลาที่ทุกข์ใจไปโดยสิ้นเชิง

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกับความทรงจำคือ ‘อารมณ์’ ยิ่งมีอารมณ์ร่วมมากเท่าไร ความทรงจำนั้นก็จะฝังแน่นในสมองมากขึ้นเท่านั้น สิ่งนี้เรียกว่า ‘Emotional Weight’ ทำให้เมื่อเราหวนคิดถึงอดีต สมองจะให้น้ำหนักกับ ‘ความรู้สึก’ ที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลานั้นมากกว่า ‘ข้อเท็จจริง’ ที่เกิดขึ้นจริง 

แล้วเมื่อเรามีความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับ ‘อดีต’ จึงอาจทำให้เราไม่พอใจกับความสัมพันธ์ใน ‘ปัจจุบัน’ เพราะเมื่อเรารู้สึกว่าชีวิตปัจจุบันไม่ดีเท่าที่หวัง เรามักมองอดีตในแง่ที่สวยงามมากขึ้น เรียกว่า ‘Contrast Effect’ นอกจากนี้ ยังทำให้เราไม่พยายามแก้ไขปัญหาในความสัมพันธ์ เพราะคิดว่าอดีตนั้นดีกว่าอยู่แล้ว ทั้งที่จริงแล้วอาจจะไม่แตกต่างกัน หรือปัจจุบันอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เราดูหนัง หรือฟังเพลงแล้วคิดถึงแฟนเก่า อาจเป็นผลมาจาก ‘Media Influence’ หรือ ‘อิทธิพลจากสื่อ’ ที่ทำให้เราจดจำความรักในแบบที่สวยงามและโรแมนติก จากนั้นจึงเกิด ‘การเปรียบเทียบทางสังคม’ หรือ ‘Social Comparison Theory’ ที่อธิบายว่า เรามักเปรียบเทียบชีวิตจริงของตัวเองกับสิ่งที่เห็นในสื่อโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิด ‘ภาพจำ’ ของความรักที่สมบูรณ์แบบ จนทำให้รู้สึกว่าแฟนเก่าคือ ‘รักแท้’ ที่หายไป

Nostalgia Bias ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเรื่องของความรัก แต่ยังพบได้ในหลายบริบท เช่น การคิดถึงวัยเด็ก หรือการคิดว่า ‘สมัยก่อนดีกว่านี้’ แม้ความเป็นจริงอดีตอาจจะไม่ได้ดีกว่า เพียงแต่ ‘แตกต่าง’ กันเท่านั้น แค่เรายังไม่ชิน

แม้ว่า Nostalgia Bias จะเป็นกลไกธรรมชาติของสมอง แต่เราสามารถเรียนรู้วิธีจัดการกับมันได้ โดยตระหนักว่าความทรงจำของเราไม่ได้ ‘น่าเชื่อถือ’ ขนาดนั้น เพราะความทรงจำมักถูกบิดเบือนไปจากความจริง และ ‘เปลี่ยนมุมมองของตัวเองต่ออดีต’ หรือ  ‘Cognitive Reframing’ เช่น แทนที่จะคิดว่า “เราน่าจะมีความสุขถ้ายังอยู่ด้วยกัน” ให้คิดว่า “แม้เราจะเคยมีช่วงเวลาที่ดี แต่ก็มีเหตุผลที่ทำให้ต้องแยกทางกัน”

สุดท้ายแล้ว Nostalgia Bias อาจทำให้เราคิดถึงแฟนเก่าเพราะ ‘ภาพจำที่สวยงาม’ ไม่ใช่เพราะเขาคือคนที่ดีที่สุดจริง ๆ ดังนั้น อย่าปล่อยให้อคติในความคิดมาหลอกตัวเอง ให้ใช้เวลาทบทวนว่า มันคือความรู้สึกจริง ๆ หรือแค่ผลจากอารมณ์ชั่วคราว

 

เรื่อง: ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร (The People Junior)
ภาพ: Pexels 

อ้างอิง:

AllActive. Dave Lee. Nostalgia bias: Understanding our perception of the past. Retrieved February 7, 2025, from https://allactive.co.uk/2024/10/01/nostalgia-bias-understanding-our-perception-of-the-past/

NNgroup. Lexie Kane. The Peak–End Rule: How Impressions Become Memories. Retrieved February 7, 2025, from https://www.nngroup.com/articles/peak-end-rule/