จากบทเพลงสู่บทเรียน จิตวิทยาเบื้องหลัง ‘วิธีแสดงความรักที่บกพร่อง’

จากบทเพลงสู่บทเรียน จิตวิทยาเบื้องหลัง ‘วิธีแสดงความรักที่บกพร่อง’

บางครั้งสิ่งที่เราแสดงออกอาจไม่ใช่ความรัก แต่อาจเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นพิษโดยที่เราไม่รู้ตัว

KEY

POINTS

  • บางพฤติกรรมที่ดูเหมือนความห่วงใย แท้จริงแล้วอาจเป็นการควบคุมอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว
  • การแสดงความรักผ่านความเงียบ การทำให้รู้สึกผิด หรือการเสียสละมากเกินไป อาจเป็นสัญญาณของความสัมพันธ์ที่ไม่สมดุล
  • ลองกลับไปทบทวนวิธีแสดงความรักของตัวเอง เพราะความสัมพันธ์ที่ดีต้องมีทั้งความเข้าใจ ความเคารพ และอิสรภาพของทั้งสองฝ่าย

แผ่นเสียงเพลง ‘Tiger Cry Freestyle’ ของ ‘Lazy Loxy’ กับท่อนที่ว่า 

“คุณไม่ต้องพยายามจะปกป้อง วิธีแสดงความรักคุณบกพร่อง 
ผมไปทำอะไรให้คุณ จนต้องทำลายกัน ต้องทำร้ายกัน”

 
กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเทรนด์ใน​​ TikTok ที่มีชื่อว่า ‘วิธีแสดงความรักคุณบกพร่อง’

พร้อมด้วยข้อความเช่น “วิธีแสดงความรักของคนอื่นเป็นไงไม่รู้ แต่ของแฟนผมคือการกัด” หรือ “บ่นกับแฟนว่าช่วงนี้อ้วน แฟนตอบกลับมาว่า ถึงอ้วนก็รัก” แทนที่จะตอบกลับมาว่า “ไม่เห็นอ้วนเลย” ผู้คนต่างพากันแชร์ประสบการณ์การแสดงความรักของตัวเองที่ดูแล้วก็พาให้อมยิ้มตาม

เทรนด์นี้สะท้อนให้เห็นว่า คนเรามีวิธีการแสดงความรักที่หลากหลาย บางวิธีอาจดูแปลกในสายตาคนทั่วไป แต่เป็นเรื่องปกติสำหรับบางคน อย่างไรก็ตาม มีเส้นบาง ๆ ที่แบ่งระหว่าง ‘การแสดงความรักที่แปลกแต่น่ารัก’ กับ ‘การแสดงความรักที่เป็นพิษ’

ซึ่งในมุมมองทางจิตวิทยา ‘วิธีแสดงความรัก’ ของใครบางคน ที่ดูเป็นเรื่องปกติหรือตลกขบขัน แท้จริงแล้วอาจเป็นพฤติกรรมที่สะท้อนถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) ที่เราแสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว

อย่างการที่คนรักของเราบอกว่า “ห้ามแต่งตัวโป๊” หรือ “ไม่ต้องมีเพื่อนเยอะหรอก มีแค่เราคนเดียวก็พอแล้ว” มองเผิน ๆ คำพูดเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นความห่วงใย แต่ในความเป็นจริงนั่นคือการแสดงออกของ ‘ความรักแบบควบคุม’ (Overcontrolling Love) ที่แสดงตัวเป็นเจ้าของเรา จนเรารู้สึกไม่มีอิสระ ซึ่งอาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่อึดอัดและไม่เท่าเทียม

อาเลฆันดรา มีซิโอเล็ก นักจิตวิทยาชาวสเปน อธิบายว่าพฤติกรรมเหล่านี้มักเกิดจากความไม่มั่นคงทางอารมณ์ (Emotional Insecurity) คนที่แสดงความรักด้วยการควบคุมมักกลัวว่าหากปล่อยให้คนรักมีอิสระจะนำไปสู่การถูกทิ้งหรือการนอกใจ จึงเลือกใช้การควบคุมเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้ตนเอง

นำไปสู่การแสดงความรักแบบ ‘หึงหวงจนเกินเหตุ’ (Excessive Jealousy) ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่พบได้บ่อย เช่น การห้ามไม่ให้คุยกับเพศตรงข้าม หรือคอยจับผิดในทุกเรื่อง มักเกิดจากความมั่นใจในตัวเองต่ำ (Low Self-Esteem) หรือรูปแบบความผูกพัน (Attachment Style) ที่ไม่มั่นคง

คนที่มีความหึงหวงสูงมักมองว่าตัวเองด้อย ทุกอย่างจึงเป็นภัยคุกคามต่อความสัมพันธ์ และพร้อมที่จะปกป้องความสัมพันธ์นั้นด้วยการควบคุม ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ความสัมพันธ์เต็มไปด้วยความกดดันและความไม่ไว้วางใจ

หรือเคยไหมที่อยู่ดี ๆ เราก็รู้สึกผิดทั้งที่ไม่ได้ทำอะไร นั่นอาจเป็นเพราะอีกฝ่ายแสดงความรักในแบบ ‘Passive-Aggressive’ ซึ่งเป็นการแสดงความไม่พอใจทางอ้อม โดยไม่พูดตรง ๆ แต่ใช้วิธีเงียบใส่ ทำให้รู้สึกผิด หรือใช้คำพูดประชดประชันอย่าง “ใช่สิ เราคงไม่สำคัญหรอก” แทน

‘โฮป เคลาฮาร์’ นักบำบัดความสัมพันธ์ อธิบายว่าพฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากการที่คนไม่กล้าเผชิญหน้ากับความขัดแย้งโดยตรง จึงเลือกที่จะแสดงความรู้สึกผ่านการกระทำที่เป็นการกดดันทางอ้อม แทนที่จะสื่อสารความต้องการอย่างตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ความสัมพันธ์แบบ ‘เจ็บแค่ไหนก็ยังรักอยู่’ หรือมุมจิตวิทยาเรียกว่า Self-Sacrificing Love คือการเสียสละตนเอง เสียสละแม้กระทั่งความคิด ความเห็น หรืออารมณ์ และยอมทำทุกอย่างเพื่อคนรักเพื่อเอาใจอีกฝ่าย แม้จะทำให้เราเดือดร้อนก็ตาม 

แม้การเสียสละจะดูเป็นสิ่งที่ดี แต่หากมากเกินไปจะกลายเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพิงทางอารมณ์ (Codependency) ที่ฝ่ายหนึ่งให้ทุกอย่างจนลืมดูแลตัวเอง จนกลายเป็นผู้ให้ที่มากเกินไป (People Pleaser) ซึ่งจะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าก็ต่อเมื่อสามารถทำให้คนอื่นพอใจ

สุดท้ายคือ การแสดงความรักแบบมีเงื่อนไข (Conditional Love) คือความรักที่มาพร้อมข้อแม้ว่า “ฉันจะรักคุณถ้าคุณเป็นอย่างที่ฉันต้องการ” โดยพยายามเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย หรือแม้แต่รูปร่างหน้าตาของอีกฝ่าย ซึ่งอาจแสดงออกผ่านคำพูดเช่น “ถ้าผอมกว่านี้จะสวย” หรือ “ฉันจะเลิกกับเธอ ถ้าเธอยังคบกับเพื่อนกลุ่มนี้”

สเตฟาน เคาน์ทส์ นักจิตวิทยาคลินิกที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ อธิบายว่าความรักแบบมีเงื่อนไขสร้างความกดดันให้อีกฝ่ายต้องเป็นไปตามภาพลักษณ์ที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งในระยะยาวจะทำให้เกิดความเครียดและสูญเสียความเป็นตัวเองในท้ายที่สุด ทำให้เรารู้สึกว่า “ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ไม่ดีพอ”

ทั้งนี้ เทรนด์ ‘วิธีแสดงความรักคุณบกพร่อง’ อาจเป็นเพียงการแชร์เรื่องราวน่ารัก ๆ ในความสัมพันธ์ แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีให้เราได้ทบทวนรูปแบบการแสดงความรักของตัวเองว่าสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพจิตหรือไม่

เพราะบางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความรักอาจเป็นเพียงความไม่มั่นคง ความกลัว หรือรูปแบบความผูกพันที่ไม่ดีที่เราได้รับมาจากอดีต 

การตระหนักรู้ถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเป็นก้าวแรกสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่มีสุขภาพดี มีความสมดุล และเคารพซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนในระยะยาว

เทรนด์ ‘วิธีแสดงความรักคุณบกพร่อง’ อาจดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องราวน่ารัก ๆ ในความสัมพันธ์ แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความสัมพันธ์ของเราตอนนี้เป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบ ‘Toxic’ หรือไม่

เพราะบางครั้ง สิ่งที่เรามองว่าเป็นความรัก อาจสะท้อนถึงความไม่มั่นคง ความกลัว หรือรูปแบบความผูกพันที่ไม่ดีจากอดีตได้โดยที่เราไม่รู้ตัว

 

เรื่อง: ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร (The People Junior)

อ้างอิง:
Kay Yerkovich. How childhood experiences impact love styles. Retrieved March 13, 2025. from focusonthefamily: https://families.org.au/article/how-childhood-experiences-impact-love-styles/

Alejandra Misiolek. (2021). 6 types of toxic relationships. Retrieved March 13, 2025. from proyectoart: https://proyectoart.com/en/blog/what-are-the-different-types-of-toxic-relationships/

Blythe Copeland. (2024). Is Your Partner Exhibiting Passive-Aggressive Behavior in Your Relationship? Here Are 7 Signs to Watch Out For. Retrieved March 13, 2025. from brides: https://www.brides.com/reasons-marriage-to-a-passive-aggressive-spouse-is-so-lonely-1103090

Sanook. (2024). Codependent Relationship ความสัมพันธ์แบบ เขา “ร้าย” แต่ก็ยัง “รัก”. Retrieved March 13, 2025. from sanook:
https://www.sanook.com/campus/1422043/