11 เม.ย. 2568 | 08:35 น.
KEY
POINTS
ในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี เสียงหัวเราะและรอยยิ้มแห่งเทศกาลสงกรานต์มักพัดพาเราย้อนกลับไปสู่อ้อมกอดของครอบครัว เป็นวันที่หลายคนใช้โอกาสกลับบ้าน กราบพ่อแม่ พาลูกหลานไปรดน้ำดำหัว ชำระล้างใจจากวันเวลาที่แห้งแล้งด้วยความห่างเหิน แต่ท่ามกลางเสียงหัวเราะเหล่านั้น ยังมีเด็กบางคนที่หัวใจร้างราจากการถูกใครบางคนหันหลังให้ แม้จะยังเรียกพวกเขาว่า ‘พ่อ’ หรือ ‘แม่’
เชื่อหรือไม่ว่า? มีคนเป็นพ่อแม่อยู่ไม่น้อย ที่เลือกจะปรากฏตัวในชีวิตลูกเพียงบางวาระ เฉพาะในวันที่กล้องพร้อม แฟลชดัง และครอบครัวพร้อมจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อโลก พวกเขาคือพ่อแม่ที่แสดงตัวเฉพาะโอกาส ผู้ใหญ่ที่รักการปรากฏตัวในวันพิเศษ แต่กลับหลบหายเมื่อถึงวันธรรมดา
ไม่ใช่เพียงวันเด็ก ไม่ใช่แค่วันเกิด หรือวันสงกรานต์อย่างวันนี้ที่พ่อแม่หลายคนจูงมือลูกเข้าวัด หรือยิ้มหวานในรูปครอบครัวที่พร้อมถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก แต่ในชีวิตจริง กลับไม่เคยร่วมโต๊ะอาหารกับลูกเลยตลอดปี ไม่เคยรับฟังเมื่อเขาร้องไห้ ไม่เคยอยู่ตรงนั้นในวันที่เขาอกหัก หกล้ม หรือหิวข้าว
การเป็นพ่อแม่ไม่ใช่แค่ตำแหน่ง แต่มันคือการมีตัวตนทางใจให้กับลูกอย่างสม่ำเสมอ เป็นความสม่ำเสมอที่หล่อเลี้ยงให้เขารู้ว่าตัวเอง ‘มีค่า’ และมีคนพร้อมจะโอบรับโดยไม่ต้องรอให้เป็นวันพิเศษ
แน่นอนว่าไม่มีใครเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบได้ทุกวัน ชีวิตจริงมีงาน มีภาระ มีความเครียด แต่คำถามคือ “ถ้ารักลูกจริง ทำไมความรักจึงมีเงื่อนไขว่าจะปรากฏแค่วันพิเศษ?”
นักสังคมวิทยาชาวแคนาดาอย่าง ‘เออร์วิง กอฟแมน’ (Erving Goffman) เคยอธิบายไว้ว่า “ชีวิตคนเราเต็มไปด้วยเวที” หมายความว่า เราเลือกแสดงบทบาทต่าง ๆ ต่อหน้าผู้อื่น และพยายามควบคุมภาพลักษณ์ให้ดูดีเสมอ แนวคิดนี้เรียกว่า ‘Impression Management’ และเมื่อถูกนำมาใช้กับบทบาทของความเป็นพ่อแม่ มันแปรเปลี่ยนให้การเลี้ยงดูกลายเป็น ‘ฉากละคร’
เราจึงเห็นพ่อบางคนที่ไม่เคยจ่ายค่าเทอม แต่ยืนอยู่หน้าเค้กวันเกิดลูกอย่างภูมิใจ หรือแม่บางคนที่ไม่เคยลูบหัวลูกเลยตลอดปี แต่สวมชุดไทยไปร่วมงานวันครอบครัวด้วยรอยยิ้มจาง ๆ
ไม่ใช่เรื่องผิดหากใครจะอยากเป็นพ่อแม่ที่ดูดีในสายตาสังคม แต่หากความรักมีไว้เพียงเพื่อโชว์ มันย่อมกลายเป็นความกลวงเปล่าที่ไม่เคยสัมผัสหัวใจลูกเลยจริง ๆ
เด็กบางคนโตมากับความรักแบบมา ๆ หาย ๆ นักจิตวิทยาชาวอังกฤษอย่าง ‘จอห์น โบลบี’ (John Bowlby) อธิบายว่าเป็นการสร้าง ‘ความผูกพันที่ไม่มั่นคง’ (Insecure Attachment) เด็กไม่รู้ว่าจะได้ความรักเมื่อไร ไม่รู้ว่าพ่อแม่จะอยู่ตรงไหนในวันที่เขาต้องการจริง ๆ
และเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น พวกเขาอาจแสวงหาความรักในความสัมพันธ์แบบเดียวกัน แบบที่ต้องวิ่งไล่ แบบที่ต้องแสดงความดีเพื่อให้ใครบางคนโผล่มาในวันพิเศษ
นั่นไม่ใช่โชคชะตา แต่มันคือผลพวงจากการเลี้ยงดูที่ไม่สม่ำเสมอ จากความรักที่มาเป็นจังหวะเหมือนการแจกขนมในงานวัด มากกว่าจะเป็นอาหารใจที่วางไว้บนโต๊ะทุกวัน
พ่อแม่บางคนอาจไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายลูก พวกเขาอาจคิดว่าแค่ปรากฏตัวในวันที่สำคัญก็พอแล้ว หรืออาจรู้สึกผิดอยู่ลึก ๆ ว่าชีวิตจริงไม่พร้อมเลี้ยงดู จึงใช้วันพิเศษมาชดเชยความบกพร่อง
แต่ในความพยายามชดเชยนั้น พวกเขาอาจลืมไปว่า เด็กไม่ได้ต้องการของขวัญหรือคำอวยพรที่สวยงามในวันพิเศษเท่านั้น ทว่าต้องการสายตาที่มองเขาด้วยความใส่ใจในทุกวันธรรมดา
มีงานวิจัยมากมายที่แสดงว่า เด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่ไม่สม่ำเสมอ มักมีปัญหาด้านความมั่นใจในตัวเอง และความไว้วางใจในผู้อื่น ซึ่งเชื่อมโยงกับรูปแบบการเสริมแรงแบบไม่สม่ำเสมอ (Intermittent Reinforcement) ตามแนวคิดของพฤติกรรมนิยม
กล่าวง่าย ๆ คือ เมื่อความรักมาแบบไม่แน่นอน เด็กจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมาอีกครั้ง แม้ว่าจะต้องสูญเสียตัวตนก็ตาม
พ่อแม่บางคนบอกว่า “ฉันทำดีที่สุดแล้ว” ซึ่งอาจจริงในมุมเขา แต่คำถามคือ สิ่งที่ดีที่สุดของคุณ มันตอบสนองความต้องการทางใจของลูกหรือไม่?
ลูกไม่ต้องการพ่อแม่ที่ดีที่สุดในสายตาโลก แต่ต้องการพ่อแม่ที่อยู่ตรงนั้นเสมอแม้ไม่มีใครมองเห็น
อย่าปล่อยให้ ‘วันครอบครัว’ กลายเป็นเพียงเวทีหนึ่งที่ทุกคนสวมบทบาท อย่าให้ลูกต้องกลายเป็นตัวประกอบในละครภาพลักษณ์ที่คุณกำกับเอง
ลองถามตัวเองตรง ๆ ว่า ถ้าไม่มีวันพิเศษเหล่านี้ คุณยังจำได้ไหมว่าลูกชอบกินอะไร? เคยฝันอยากเป็นอะไร? หรือแค่โตทันไหม?
วันสงกรานต์ปีนี้จึงไม่ใช่แค่การรดน้ำดำหัว แต่คือโอกาสที่จะล้างใจตัวเองให้ใสซื่อพอจะกลับไปเป็นพ่อแม่ที่อยู่จริง อยู่เต็มเวลา อยู่แม้ในวันที่ไม่มีแสงไฟเวที
เพราะครอบครัวไม่ใช่ฉากหลังของละครชีวิตใคร แต่คือเวทีที่ปลอดภัยที่สุดที่มนุษย์ควรได้รับ
และในโลกที่เปลี่ยนเร็วเกินไป ลูกเพียงต้องการรู้ว่า เมื่อหันกลับมา เขาจะยังมีใครบางคนที่ยืนอยู่ตรงนั้นเสมอ ไม่ใช่แค่ในวันพิเศษ แต่ในทุกวันธรรมดาเช่นกัน
เรื่อง: พาฝัน ศรีเริงหล้า
อ้างอิง:
McLeod, Saul. “Impression Management.” Simply Psychology, 1 Mar. 2024, https://www.simplypsychology.org/impression-management.html.
Chris. “Impression Management: Erving Goffman’s Dramaturgical Theory.” Helpful Professor, 24 Oct. 2023, https://helpfulprofessor.com/impression-management-sociology/.
Impression Management in Sociology: Theory, Definition & Examples.” Study.com, https://study.com/academy/lesson/impression-management-in-sociology-theory-definition-examples.html. Accessed 11 Apr. 2025.