ปรัชญาของ ‘ซากุระ’ ที่ว่าด้วยการยอมรับความไม่เที่ยงและชื่นชมปัจจุบัน

ปรัชญาของ ‘ซากุระ’ ที่ว่าด้วยการยอมรับความไม่เที่ยงและชื่นชมปัจจุบัน

‘ซากุระ’ ไม่ได้เป็นเพียงความสวยงาม แต่มอบปรัชญาชีวิตให้เราอยู่กับปัจจุบัน ซึมซับทุกเรื่องราวตรงหนา และบอกว่า ไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป แล้ววันหนึ่งฤดูกาลของเราจะกลับมาอีกครั้ง

KEY

POINTS

  • ซากุระมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพราะมันไม่ใช่แค่ดอกไม้ แต่เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต
  • ภายใต้กลีบสีชมพู คือ แนวคิด mono no aware ที่สอนให้เราอยู่กับปัจจุบันและยอมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างอ่อนโยน
  • เพราะบางครั้งการไปยืนอยู่ท่ามกลางดอกไม้สวยงาม ทำให้เรามีความสุขและมีแรงที่จะใช้ชีวิตต่อ

‘ซากุระ’ คือ ดอกไม้สีขาวหรือสีชมพูที่จะออกดอกเพียงปีละ 1 ครั้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือราว ๆ เดือนปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน แม้จะบานเพียงสัปดาห์เดียว แต่กลับทิ้งร่องรอยไว้ในใจคนทั่วโลก

สำหรับชาวญี่ปุ่น ซากุระไม่ใช่แค่ดอกไม้สวยงาม หากแต่เป็นตัวแทนของปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้ง นั่นคือแนวคิด ‘mono no aware’ (โมโน โนะ อาวาเระ) ที่สอนให้เราเข้าใจความไม่เที่ยง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และชื่นชมช่วงเวลาปัจจุบันอย่างเต็มหัวใจ

บทความนี้อยากชวนคุณสำรวจความหมายของชีวิตที่แฝงอยู่ในกลีบซากุระ ที่แม้สุดท้ายจะร่วงโรยในที่สุดแต่ก็ผลิบานใหม่ได้เสมอ

ปรัชญาของ ‘ซากุระ’ ที่ว่าด้วยการยอมรับความไม่เที่ยงและชื่นชมปัจจุบัน

ความงามเพียงชั่วครู่ของซากุระที่โลกหลงรัก

‘ซากุระ’ ดอกไม้สีชมพูประจำประเทศญี่ปุ่นที่จะบานสะพรั่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ทั้งยังเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยหลบอากาศร้อยไปพักใจอยู่แดนอาทิตย์อุทัยในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน

เพราะซากุระเป็นดอกไม้ที่มีวิวัฒนาการมาจากไม้ดอกพันธุ์ดั้งเดิมอย่างเชอร์รี่ป่าหิมาลัยที่มักพบในเนปาลหรือภูฏาน อายุสั้น เมื่อออกดอกผลิบานจนทำให้หลาย ๆ เมืองของญี่ปุ่นถูกประดับไปด้วยสีมพูแล้ว มันจะร่วงโรย พักตัว เพื่อรอวันที่ฤดูใบไม้ผลิกลับมาอีกครั้ง 

ในอดีตซากุระถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำนายผลผลิตของปี รวมถึงเป็นสัญญาณบอกฤดูกาลเพาะปลูกข้าว ผู้คนเชื่อว่ามีเทพเจ้าอาศัยอยู่ในต้นซากุระ และผู้คนจะมารวมตัวกันเพื่อทำพิธีถวายเครื่องบูชา อาหารและเหล้าสาเกให้แก่เทพเจ้า

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 เป็นต้นมา คำว่า 'ซากุระ' (さくら·桜) ปรากฏอย่างเด่นชัดในบทกวีและวรรณกรรมญี่ปุ่น ซึ่งต้นซากุระเติบโตสูงสุดเมื่ออายุ 20 ปี และเริ่มร่วงโรยเมื่ออายุ 50 ปี ก่อนจะตายในวัยประมาณ 70 ปี จึงมีการนำมาอุปมาอุปไมยกับชีวิตของมนุษย์ 

ปรัชญาของ ‘ซากุระ’ ที่ว่าด้วยการยอมรับความไม่เที่ยงและชื่นชมปัจจุบัน

นอกจากนี้ กลีบดอกซากุระมีอายุสั้น จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนชีวิตแสนสั้นของเหล่านักรบซามูไรในช่วงปี ค.ศ. 1185–1868 ต่อมา ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซากุระก็ถูกนำไปประดับบนเครื่องบินของนักบินพลีชีพคามิกาเซ่ ก่อนที่พวกเขาจะออกปฏิบัติภารกิจ เปรียบเสมือนกลีบซากุระที่ร่วงหล่นอย่างงดงามเพื่อประเทศ

แม้ดอกซากุระจะงดงาม แต่สุดท้ายมันก็เป็นความงามเพียงชั่วครู่ที่ทิ้งร่องรอยปรัชญาและแนวคิดของคนญี่ปุ่นไว้ที่สอนให้เราชื่นชมช่วงเวลาที่มีค่าและยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างอ่อนโยน

ปรัชญาในดอกไม้ที่สอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน

แต่ละปี ดอกซากุระจะบานเพียงครั้งเดียว มันสวยงาม แม้จะมีอายุไม่ถึงสัปดาห์ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ  ที่ประเทศญี่ปุ่น ซากุระจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของแนวคิด mono no aware (โมโน โนะ อาวาเระ) หรือ แนวคิดที่จะทำให้เราเข้าใจว่า สิ่งใด ๆ ล้วนเปลี่ยนแปลง และไม่คงอยู่ตลอดไป

คำว่า mono no aware (物の哀れ) ในภาษาญี่ปุ่น แปลตรงๆ ได้ว่า ‘ความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ’ โดย ‘mono’ (โมโน) แปลว่า สิ่งของหรือสิ่งต่างๆ ในโลก ส่วน ‘aware’ (อาวาเระ) แปลว่า ความรู้สึกซาบซึ้ง หรือความสะเทือนใจ เชื่อมด้วยคำว่า ‘no’ เป็นคำเชื่อมที่แสดงความเป็นของ 

ดังนั้น mono no aware จึงหมายถึง ความรู้สึกซึ้งใจต่อสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไป โดยที่เราไม่สามารถเป็นเจ้าของหรือหยุดมันได้ แค่รับรู้และชื่นชมมันในขณะที่สิ่งเหล่านั้นยังอยู่ 

โมโตโอริ โนรินางะ (Motoori Norinaga) ผู้เสนอแนวคิด mono no aware ในช่วงศตวรรษที่ 18  ขยายความแนวคิดนี้ว่า “มันคือการเข้าใจและสัมผัสถึงความงามและความหมาย ไม่ใช่แค่ของดวงจันทร์หรือดอกซากุระ แต่รวมถึงทุกสิ่งรอบตัวเรา การที่บางสิ่งบางอย่างกระทบใจเราอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า หรือความรักต่อสิ่งที่มีคุณค่า”

ปรัชญาของ ‘ซากุระ’ ที่ว่าด้วยการยอมรับความไม่เที่ยงและชื่นชมปัจจุบัน

มองให้ลึกลงไป mono no aware อาจเป็นแนวคิดรากฐานของคนญี่ปุ่นที่มักจะสงบมักจะสงบนิ่งและสุขุมในสถานการณ์ที่เลวร้าย ความงามที่แฝงความเศร้าต่างทำให้เรารู้ซึ้งถึงการดำรงอยู่ที่เปราะบางและแสนสั้นของสิ่งต่าง ๆ

เพราะแก่นหลักสำคัญของ mono no aware คือ การยอมรับว่าตลอดชีวิตของเรา ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ถาวร ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลง มันอาจทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ แต่สุดท้ายใจเราจะสงบ ถ้าเราเต็มใจอยู่กับปัจจุบันแล้วปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามวิถีของมัน

ถึงอย่างนั้น แนวคิดนี้ก็ไม่ได้พยายามลบล้างความเชื่อที่ว่า ความสัมพันธ์หรือสิ่งต่าง ๆ ควรจะคงอยู่ตลอดไป หากแต่สอนให้เรารักและชื่นชมสิ่งเหล่านั้นในขณะที่มันยังอยู่ เชื่อมโยงกับแก่นแท้ของมัน และขอบคุณที่มันเคยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา

สุดท้าย ชีวิตทุกคนต่างเดินทางไปข้างหน้าเสมอ แต่เรามักทิ้งบางสิ่งไว้ เพื่อเจอกับการเปลี่ยนแปลงและเรื่องราวใหม่ ๆ ในชีวิต เหมือนดอกซากุระที่ร่วงโรยในแต่ละฤดูกาล แต่ก็ผลิบานใหม่ในปีถัดไป เพื่อมอบความงดงามอันแสนชั่วครู่แก่เราอีกครั้ง

ตัวแทนแห่งความสุขและความเศร้า

เทศกาลชมดอกซากุระ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ‘ฮานามิ’ (Hanami)

การชมดอกซากุระหรือ ‘ฮานามิ’ (แปลว่าดอกไม้) เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยจักรพรรดิซางะ เมื่อปี ค.ศ. 812 ที่สวนชินเซ็นเอ็นในเกียวโต ช่วงเวลานั้น มีเพียงชนชั้นสูงและมีผู้มีอำนาจเท่านั้นที่จะร่วมงานได้ ทุกปี จักรพรรดิและราชสำนักจึงได้ปลูกต้นซากุระไว้ทั่วบริเวณพระราชวัง (รวมถึงภูมิทัศน์รอบข้าง) ซึ่งทำให้ดอกซากุระกลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจจักรวรรดิ 

ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นจะออกมาเฉลิมฉลองและดื่มด่ำกับความสุขร่วมกันในเทศกาลฮานามิ บางคนปูเสื่อปิกนิกใต้ต้นซากุระ หรืออาจออกมาเดินเที่ยมชมถ่ายรูปที่ระลึกเป็นความทรงจำ

ขณะที่นิยามความหมายของดอกซากุระตามวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็เป็นสัญลักษณ์ของ ชีวิต ความตาย และการเริ่มต้นใหม่ ทั้งยังเชื่อมโยงกับมนุษย์ อารมณ์ และฤดูกาล

มีการค้นพบว่า การออกไปชื่นชมดอกซากุระจะส่งผลต่อจิตใจ อย่างเป็นยารักษาความเศร้าและความโกรธของผู้คนได้ บ้างก็บอกว่าเป็นยารักษาอารมณ์เศร้าที่ทรงพลัง

ปรัชญาของ ‘ซากุระ’ ที่ว่าด้วยการยอมรับความไม่เที่ยงและชื่นชมปัจจุบัน

อีกมุมหนึ่ง ดอกซากุระก็เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง ความอดทนของผู้คนที่ต้องมาอยู่ในดินแดนที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่า และยังเป็นสัญญาณเตือนของความโหดร้ายในโลกความจริง

ปี 2011 ท่ามกลางภัยพิบัติและความโศกเศร้าจาก แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นตะวันออก (Great East Japan Earthquake) ที่เกิดขึ้น ดอกซากุระก็ยังคงเบ่งบาน แม้แผ่นดินจะแตกร้าว สึนามิจะโห่มกระหน่ำ และสารเคมีเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะรั่วไหล

ในห้วงเวลาที่ดอกซากุระร่วงหล่น บางคนอาจรู้สึกถึงการพรากจาก แต่การกลับมาผลิบานในปีถัดไป ก็ค่อย ๆ สะกิดใจว่า ความหวังและช่วงเวลาดี ๆ ไม่เคยหายไปไหนและรอเราอยู่เสมอ 

เทศกาลชมดอกไม้ที่รักษาใจผู้คนทุกปี 

เมื่อปี 2024 มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมซากุระมากกว่า 3 ล้านคน เพราะใคร ๆ ก็อยากจะทิ้งความเครียดในชีวิต แล้วลองไปสัมผัสเจ้าดอกสีชมพูในดินแดนอาทิตย์อุทัยสักครั้ง 

การไปยืนอยู่ท่ามกลางดอกไม้สวยงาม ทำให้เรามีความสุขและมีแรงที่จะใช้ชีวิตต่อ…

คอลิน เอลลาร์ด (Colin Ellard)  อาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู (University of Waterloo) รัฐออนแทริโอ ประเทศแคนาดา บอกว่า ซากุระถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและการฟื้นฟู ทั้งยังเป็นสัญญาณแรกของฤดูใบไม้ผลิ การเผชิญกับความมืดหม่นมานาน แล้วมาเจอกับความสดใส ทำให้ทุกครั้งที่เห็นดอกซากุระมันจึงกระทบใจเรามาก

“เมื่อเราเห็นธรรมชาติ เราจะเชื่อมโยงมันกับความอุดมสมบูรณ์ มนุษย์เราจึงถูกตั้งโปรแกรมไว้ให้รู้สึกดีหรือมีความสุขเมื่อได้เห็นภาพเหล่านี้ ดอกไม้คือสุดยอดของธรรมชาติ เพราะไม่ใช่แค่บ่งบอกถึงความเป็นธรรมชาติ แต่ยังบอกถึงผลผลิตที่กำลังจะตามมาด้วย คุณรู้ใช่ไหมว่า หลังจากดอกไม้บานแล้ว มักจะมีผลไม้หรือของกินตามมาเสมอ”

ขณะเดียวกันมีงานวิจัยที่ระบุว่า ไม้ดอกมีอิทธิพลต่ออารมณ์ของมนุษย์เชิงบวก ช่วยกระตุ้นความรู้สึกของความสุข ความสงบ ความหวัง ความรัก และยังตีความได้ในเชิงอุปมาซึ่งเปรียบเปรยถึง ‘ความงามและความเปราะบางของชีวิต’

ปรัชญาของ ‘ซากุระ’ ที่ว่าด้วยการยอมรับความไม่เที่ยงและชื่นชมปัจจุบัน

งานวิจัยจาก Gangneung-Wonju National University ขยายความว่า ดอกซากุระเป็นดอกไม้ที่ดีต่อใจมากที่สุด เพราะสีขาวและสีชมพูอ่อนช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัย อิสระ ลดความเครียด และบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ด้วย 

เทศกาลฮานามิ หรือการชมซากุระจึงไม่ได้เป็นเพียงเทศกาลที่มอบความสุขและความสวยงามอย่างเดียว แต่เป็นการเตือนใจให้เราอยู่กับปัจจุบัน และบอกเราว่าความงามและโอกาสใหม่ ๆ จะกลับมาเสมอ 

ถึงสุขหรือทุกข์ กลีบของดอกไม้สีชมพูจะย้ำเตือนเราว่า สักวันฤดูกาลของเราจะมาถึง สิ่งที่ทำได้ คือ การซึมซับบรรยากาศ มวลความสุข และระลึกถึงคุณค่าของสิ่งที่มันยังคงอยู่ไว้ ตราบนานเท่านาน

 

อ้างอิง

Acevedo, I. (2021). Cherry blossoms and the aesthetics of mono no aware: A reflection on transience, trauma, and beauty. Honors Thesis, Brown University. https://ibes.brown.edu/sites/default/files/2022-12/Acevedo%2CIsabel_HonorsThesis_2021.pdf

Awazuhara, A. (2005). Perceptions of ambiguous reality: Life, death and beauty in Sakura. Japanese Religions, 32(1 & 2), 37–58.

Chambers, G. (n.d.). The ‘Mono no Aware’ in Hanami: Re-reading its festive, aesthetic, and contemporary value. Unpublished manuscript, retrieved from personal collection.

Jia, D. (2017). Analysis of physiological and psychological effects caused by changes in the visual environment and stimuli (Doctoral dissertation). 

Japan Is Already Booked Solid for Cherry Blossom Season. Here’s How You Can Still Go. / Robb Report

How Cherry Blossom Season Can Help Us Cope With Suffering / psychologytoday

The Importance of Flowering Trees in Human Emotions / flickr

The Shape of Cherry Blossom: The History of Hanami (Flower Viewing) / BOKKSU

There's a reason we flock to see cherry blossoms. This Waterloo prof explains why / CBC News

What is the True Meaning of Japan’s Sakura Cherry Blossom? / sakuraco