05 มิ.ย. 2562 | 16:23 น.
คำว่า "พรรค" นั้น ราชบัณฑิต แปลไว้ว่าหมายถึง "หมู่คนที่เข้ารวมกันเป็นพวกเป็นฝ่าย เช่น พรรคการเมือง, พวก เช่น คนพรรค์นั้น" กลุ่มการเมืองนอกกฎหมายในอดีตอย่างคอมมิวนิสต์ เราก็ยังเรียกกันว่า "พรรคคอมมิวนิสต์" ดังนั้นคงไม่ผิดถ้าจะบอกว่า "กองทัพไทย" ซึ่งใกล้ชิดกับการเมืองมาแต่ต้นก็นับได้ว่าเป็นกลุ่ม หรือ "พรรคการเมือง" ได้เช่นกัน และยังเป็นพรรคที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศนี้ แต่ถ้าจะถือการตีความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่า "'พรรคการเมือง' หมายความว่า คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้" กองทัพไทยก็คงไม่ใช่ "พรรคการเมือง" ในความหมายอย่างแคบตามนิยามดังกล่าว ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ เพราะแม้กระทั่งซีไอเอหรือสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ ก็เห็นว่ากองทัพไทยเป็น "พรรคการเมือง" พรรคหนึ่งเช่นกัน "กองทัพไทยมักจะถูกเรียกว่าเป็นพรรคการเมือง [political party] ที่ใหญ่ที่สุดและมีการจัดการที่ดีที่สุดในประเทศ เริ่มตั้งแต่ปี 1932 (พ.ศ. 2475) กองทัพมีบทบาทสำคัญในการล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นผู้นำก่อรัฐประหารหรือพยายามรัฐประหารมาแล้ว 16 ครั้ง และออกรัฐธรรมนูญมาแล้ว 13 ฉบับ" รายงานเรื่อง กองทัพไทย: กับบทบาทนายหน้าค้าอำนาจในวาระเปลี่ยนผ่าน ซึ่งวิเคราะห์การเมืองไทยถึงช่วงปี พ.ศ. 2528 ระบุ (Central Intelligence Agency) แม้กองทัพไทยจะมีกำลังพลเพียงราว 2 แสนนาย แต่ชายไทยส่วนใหญ่ต้องผ่านการเกณฑ์ทหาร หรือไม่ก็ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรวิชาทหารมาก่อน ทำให้กองทัพสามารถปลูกฝังอุดมการณ์และความผูกพันกับกองทัพผ่านการฝึกฝนบุคลากรรุ่นแล้วรุ่นเล่า คนที่เข้ามาอยู่ในกองทัพก็ล้วนมีเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง (ที่มาจากภาษีของประชาชน) นอกจากนี้กองทัพยังมีสื่อในมือจำนวนมากที่สามารถใช้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมพัฒนาสังคมได้เป็นอย่างดี (เช่น การใช้งานทหารเกณฑ์ในภารกิจบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสื่อถึงความจำเป็น และช่วยเรียกเสียงสนับสนุนจากสังคมได้) ดังนั้นถ้าจะบอกว่าถ้าจะสู้กันในเรื่องการจัดการทางการเมือง กองทัพไทยสามารถทำได้ดีกว่ากลุ่มการเมืองใด ๆ ก็คงไม่ผิดไปจากความจริงมากนัก ความได้เปรียบของกองทัพในทางการเมืองมีมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อผู้นำกองทัพสามารถครองตำแหน่งทางการเมืองควบคู่ไปกับตำแหน่งในกองทัพได้ (เช่นการครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของพระยาพหลพลพยุหเสนา, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นต้น) และยังมีการคุมกำเนิดพรรคการเมืองอยู่นานกว่าที่พรรคการเมืองในระบบรัฐสภาอย่างสากลจะเกิดขึ้นได้ โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 เปิดช่องให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ (แต่ยังไม่มีกฎหมายชั้นพระราชบัญญัติมารองรับ) อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอยู่ได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 กองทัพนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ จึงได้ใช้กำลังยึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองสงบลง มีความพยายามที่จะฟื้นฟูธรรมเนียมการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นมาอีกครั้งในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (คราวหลัง) มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่เขียนขึ้นเพื่อรองรับการจัดตั้งพรรคการเมืองของประชาชน แต่มันก็มีอายุขัยแค่เพียงสองสามปี ก่อนที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะยึดอำนาจแล้วยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าวเสีย ระบบการเมืองแบบพรรคการเมืองถูกบั่นทอนด้วยอำนาจของกองทัพมาโดยตลอด และส่วนใหญ่ก็เป็นได้เพียงหางเครื่องที่คอยสร้างความชอบธรรมให้กับตัวแทนทางการเมืองของกองทัพ ที่ไม่ต้องลงเลือกตั้งแต่ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่ออำนาจของกองทัพเสื่อมลง พรรคการเมืองจึงจะได้ลืมตาอ้าปากขึ้นได้บ้างแต่ก็ล้วนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เช่นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ก่อนถูกรัฐประหารโดย พล.อ.สงัด ชลออยู่ ในสามปีต่อมา และช่วงที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศวางมือในปี 2531 ก่อนที่ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ จะทำการยึดอำนาจในปี 2534 ซึ่งตอนนั้นใคร ๆ ก็คิดว่านั้นคงเป็น "การรัฐประหารครั้งสุดท้าย" ในประเทศไทย แต่ 15 ปีผ่านไป พรรคการเมืองไทยยังไม่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริงได้ หากส่วนใหญ่อยู่ได้ก็ด้วยการสนับสนุนของนายทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนมีลักษณะเป็นพรรคประจำครอบครัว เมื่อความแตกแยกทางการเมืองถึงขีดสุด กองทัพที่ลดบทบาททางการเมืองลงมานานนับทศวรรษก็กลับมาแสดงอำนาจอีกครั้งในการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และทำให้ "พรรคไทยรักไทย" พรรคการเมืองที่แข็งแกร่งที่สุดในขณะนั้นกลายเป็นเพียงอดีต นับแต่นั้นมาการยุบพรรคกลายเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองที่เข้มแข็งมีสมาชิกพรรคนับล้านล่มสลายลงง่าย ๆ ได้ด้วยผลของการกระทำ หรือการตัดสินใจของคนไม่กี่คน ซึ่งนั่นไม่มีทางเกิดขึ้นกับกองทัพ กลุ่มการเมืองที่อยู่กับการเมืองไทยมาแต่ต้น การเมืองในระบบพรรคการเมืองจึงอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ในขณะที่กองทัพยังคงรักษาสถานะทางการเมืองไว้ได้อย่างมั่นคง การรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในปี 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งตัดสินใจรักษาทั้งอำนาจในฐานะผู้นำคณะรัฐประหารและอำนาจบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรีไว้ควบคู่กัน กองทัพจึงกลายมาเป็นผู้เล่นทางการเมืองที่เปิดหน้าชัดเจน (แม้ พล.อ. ประยุทธ์จะเคยบอกว่าตัวเองไม่ใช่นักการเมืองมาตลอดระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เกือบสี่ปี ก่อนจะบอกว่าตัวเองเป็นนักการเมืองเป็นครั้งแรกเมื่อสัญญาณการเลือกตั้งเริ่มงวดเข้ามา) และ “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ในคราวนี้ มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้งเอง พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่อย่าง "พลังประชารัฐ" ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ครองอำนาจต่อก็ได้ชื่อมาจากนโยบายของรัฐบาลทหารเอง มีการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ซึ่งมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย) มาจากการแต่งตั้งล้วน ๆ จากการเสนอรายชื่อโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หรือคณะรัฐประหารปี 57) และผู้นำกองทัพ (รวมถึงเครือข่ายนอกกองทัพ) ก็ยังได้รับการยกเว้นจากคุณสมบัติ "ต้องห้าม" อย่างการดำรงตำแหน่งข้าราชการ หรือตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้ ส.ว.ชุดแรกจากรัฐธรรมนูญ 60 ประกอบด้วยทหารและตำรวจทั้งในและนอกราชการเกินกว่าร้อยคน (แต่ถึงไม่ใช่ทหาร - ตำรวจก็ต้องผ่านการคัดกรองของคณะรัฐประหารก่อนอยู่ดี) ดังนั้น โดยประวัติศาสตร์แล้ว กองทัพไทยจึงควรได้ชื่อว่าเป็นกลุ่ม (พรรค) การเมืองที่แข็งแกร่งที่สุดและมีอายุยืนยาวที่สุดเท่าที่ไทยเคยมีมา ยิ่งภายใต้กติกาแบบนี้ ต่อให้ประชาชนเกินกว่าครึ่งประเทศไม่อยากได้ตัวแทนจากกองทัพเป็นผู้นำประเทศ ก็ยังยากเหลือเกินที่จะฝ่าด่านเอาชนะตัวแทนของกองทัพไปได้