6 โมงเย็น กับอีก 33 นาที
ยามเย็นที่เย่อหยิ่งกำลังจรดลจากไป ความมืดค่อย ๆ โรยตัวอย่างนอบน้อม ผลักไสกลางวันอำไพให้หดหายไปในราวฟ้าแรสีเทาดำ ย่านราชเทวีใจกลางป่าคอนกรีตเมืองนรก การจราจรยังอลหม่านยุ่งเหยิงบัดซบเหมือนที่มันเคยเป็นมาชั่วนาตาปีอย่างยากที่เทวดาองค์ใดจะมาเสกมนต์เป่าคาถา มันคือเมืองที่ถูกสาปครั้งแล้วครั้งเล่าจนกลายเป็นความชาชิน เย็นชา เฉื่อยเฉย ราวปีศาจซอมบี้ที่ถูกกระชากวิญญาณให้เหลือแต่ร่างเปลือยเปล่า ไร้สมอง
แต่บันเทิงสถานที่ติดป้ายมลังเมลืองบนนีออนวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์ที่โชว์หราอ่านได้ใจความว่า Rock Pub-Bangkok’s House of Rock ช่างเป็นป้ายแห่งการเชิญชวนตีนคู่ใจ เกือกคู่ชีพ พร้อมกับวิญญาณการแสวงหาดนตรีร็อคที่สนองตอบต่อตัณหาอารมณ์ของวิญญูชนผู้วางปลายนิพพานไว้บนดนตรีร็อค ดนตรีที่เทพเจ้าประทานมาให้มนุษย์โลกได้เสพสมอารมณ์หมาย ผลักไสความขุ่นมัว สลัดวิตกกังวลให้หายไปในราวฟ้า แล้วถลาออกไปกลางฟลอร์บ้าคลั่งกับเสียงกีตาร์ที่คำรามราวกัมปนาทของพายุร้าย เสียงกลองราวสายฟ้าฟาดกระหน่ำไม่ยั้งตีนสิบนิ้ว เบสกีตาร์ตามควบอย่างไม่ให้กีตาร์หลุดเสียง เสียงร้องสูงลิ่วเสียดฟ้าเพดานเมฆ
ค่ำคืนวันเสาร์แห่งราตรีกาล นรกเป็นพยาน!!! มันมีวงร็อคชั้นดีสิงสู่อยู่ที่นี่มาเป็นเวลาเนิ่นนาน จนเป็นที่รับรู้ในหมู่ชนคนร็อคว่า ถ้าอยากฟังเสียงกลองปลิดวิญญาณต้องมาฟังวง Mundee ที่มีหัวโจกของวงเป็นมือกลองปลิดวิญญาณผู้นั้น!!!
เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง ชื่อนี้สิงสถิตย์อยู่ในหัวใจเปื้อนเพลงร็อคมานานกว่า 40 ปีแล้ว!!!
ในฐานะมือกลองผู้เป็นกระดูกสันหลังของวงอันเดอร์กราวนด์สุดโด่งดังเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมาเช่นกัน นั่นคือวง V.I.P.
“มันดี เป็นวงร็อคของผมเอง ก่อตั้งขึ้นมากับน้อง ๆ ที่แวะเวียนมาเล่นกันที่ร็อคผับ ชื่อวงไม่ได้สลับซับซ้อน ก็คือเอาชื่อท้ายของผม ‘เอกมันต์’ มาต่อว่า ‘ดี’ ก็คือ ‘มันดี’ คือเราเล่นกันด้วยความเมามันส์ในอารมณ์ตามสไตล์ของเพลงร็อคอยู่แล้ว เพลงที่เราเล่นส่วนใหญ่เป็นเพลงตามกระแสบ้าง แต่ส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นยุค 70s เป็นหลัก เพราะยุคนั้นเพลงร็อครุ่งเรืองที่สุดแล้ว ทักษะของดนตรีร็อคยุคนั้นหาไม่ได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นการเล่นเพลงยุค 70s จึงเปรียบเสมือนการคงไว้ซึ่งทักษะการตีกลองของผมด้วย
“แม้ว่าผมอาจจะต้องเล่นเพลงตลาดบ้าง แต่ดนตรีที่มีทักษะกลอง ลูกส่งที่เฉียบขาด อย่าง Led Zeppelin, The Who ที่มีมือกลองกระเดื่องโลกอย่าง John Bonham และ Keith Moon เราไม่มีสิทธิ์ลืมเลือน มือกลองยุคไหนที่ว่าเก่งกาจหามาเทียบยุคนี้เถอะ ไม่มีอยู่แล้ว ยิ่งเป็นอัลบั้มบันทึกการแสดงสด ที่จะต้องโชว์ความสามารถทางดนตรี ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้อง โชว์กลอง โชว์กีตาร์โซโล โชว์ทักษะการเดินเบส ถือเป็นหัวใจของการแสดงสดของดนตรียุคนั้น..ผมภูมิใจที่เกิดในยุคนั้น เรียกว่ายุค 70s สร้างวีรบุรุษกีตาร์ฮีโร่ มือกลองฮีโร่ มือเบสฮีโร่ นักร้องฮีโร่ แน่นอน รวมทั้ง V.I.P. วงของผมด้วย...” เอกมันต์กล่าวหลังเหยือกเบียร์ที่ร็อคผับในค่ำคืนหนึ่งที่การแสดงสิ้นสุดลง แล้วหวนความหลังครั้งยังเยาว์กระทั่งล่วงเข้าวัยฉกรรจ์ ว่า...
[caption id="attachment_15493" align="aligncenter" width="960"]
วง V.I.P. (ภาพจาก Facebook: เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง)[/caption]
“สมัยเป็นนักเรียนผมไม่ชอบเรียนหนังสือ ไม่รู้เหมือนกันทำไมไม่ชอบห้องเรียนสี่เหลี่ยมคับ ผมรู้สึกว่าโลกข้างนอกมันกว้างกว่าห้องเรียน เช่นโลกของดนตรี ในห้องเรียนเราก็จะเรียนกันแค่โน้ตบรรทัดห้าเส้น โด เร มี แต่ข้างนอกมันมีมากกว่านั้น ผมชอบฟัง Elvis Presley กีตาร์ของเขามีเสน่ห์ มาดการเต้นที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า โยกและคลึง มันเร้าใจสุดประมาณ ผมเลยฝันอยากเป็นมือกีตาร์ตั้งแต่นั้นมา ไม่มีความคิดที่จะเรียนต่อตามสเต็ปของครอบครัวคือเมื่อจบมัธยมก็ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย อย่าลืมว่า ยุคนั้นทหาร จี.ไอ. เพ่นพ่านตามหัวเมืองเต็มไปหมด พวกเขามาพร้อมกับดนตรีที่สุดแสนไฉไลคลาสสิคคือ อันเดอร์กราวนด์ มิวสิค เพราะฉะนั้น แทนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมกลับโบกรถไปที่อุดรธานี ดนตรีของผมเริ่มต้นที่นี่
“ผมตั้งวงกับเพื่อน ๆ โดยมีผมเป็นมือกีตาร์ แต่ด้วยความที่ยังอ่อนด้อยประสบการณ์ วงนั้นก็แตกในเวลาต่อมา พอดีกับที่พี่แป๋ง-นิวัติ กองแก้ว มือเบส กำลังมองหามือกลองคนใหม่เพื่อมาร่วมก่อตั้ง วง V.I.P. ซึ่งสมาชิกทุกตำแหน่งพร้อมหมดแล้ว แต่ขาดมือกลองซึ่งค่อนข้างหายาก ลองชวนผมไปในตำแหน่งมือกลองซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผมไม่เคยคิดจะเล่นมาก่อน แต่พี่แป๋งให้กำลังใจบอก ลองดูก่อน ถ้าชอบร็อคมันคงไม่ยากแก่การเรียน
“ผมเริ่มคลำ ๆ กับกลอง และมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกลองต้องอาศัยสมองในการแยกประสาทสี่ส่วน เท้าสอง มือสอง แต่กลองมีตั้ง 6 ใบ และมันเหมือนกระดูกสันหลังของดนตรีร็อค ถ้ากลองล่ม ทุกอย่างจะล่มไปตาม ๆ กัน แต่ใจมันชื่นชอบ ผมจึงฝึกปรืออย่างเอาเป็นเอาตาย โดยที่ไม่เคยรู้เรื่องโน้ตสักตัวเดียว อาศัยการจำเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็เหมือนกีตาร์ แม้คุณไม่มีความรู้เรื่องตัวโน้ต แต่เมื่อเสียงมันเข้าไปสิงอยู่ในหัวของคุณ คุณจะจดจำมันอย่างแม่นยำ เพราะฉะนั้นอย่าได้แปลกใจที่เทพเจ้ากีตาร์อย่าง Jimi Hendrix ไม่มีความรู้เรื่องทฤษฏีดนตรีสักตัวเดียว แต่งานกีตาร์ของเขายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
“...จะบอกว่าพี่แป๋งเป็นคนให้โอกาสผมก็ไม่ผิด รวมทั้งพี่แหลม (แหลม มอร์ริสัน) ที่เป็นเสมือนแรงบันดาลใจให้ผมฝึกปรือกลอง แกะเพลง ฝึกซ้อม มันไม่ง่ายที่คุณจะจดจำเสียงกลองได้เป็นร้อย ๆ เพลง ในขณะที่คุณไม่เคยเล่นมันมาก่อน...” เอกมันต์ เล่าต่อมา
[caption id="attachment_15496" align="aligncenter" width="915"]
วง V.I.P. สมัยเล่นดนตรีที่ จ.อุดรธานี (ภาพโดย Bill Hauserman ใน Facebook: เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง)[/caption]
บรรยากาศยุค จี.ไอ. มีส่วนช่วยให้การฝึกปรือเป็นไปอย่างช่ำชอง เชี่ยวชาญ อธิบายได้ต่อมาว่า หลังการบินไปทิ้งระเบิดที่เวียดนามของ จี.ไอ. ระเบิดเนพาล์มพวยพุ่งทำลายล้างศัตรูเวียดกง คำรามของปืนไรเฟิล เอ็ม 16 หลังความตายหวุดหวิดจากกระสุนปืนต่อสู้อากาศยาน อเมริกัน จี.ไอ. ไม่มีอะไรปลดเปลื้องอารมณ์ได้ดีเท่ากับดนตรีร็อค พวกเขาส่งแผ่นเสียงที่มีมาทุกเที่ยวบินให้กับวง V.I.P. เพื่อให้แกะเพลงที่พวกเขาอยากจะฟัง Mountain, Led Zeppelin, The Doors, The Animals, The Who, Uriah Heep, Deep Purple ฯลฯ
“เราต้องรีบแกะเพลงเหล่านั้น เพื่อเอาใจลูกค้าที่มาเฝ้ารอชมการแสดงของเราเต็มทุกที่นั่งทุกค่ำคืน ผมต้องซ้อมกลองอย่างไม่มีเวลาพัก ซึ่งกลายเป็นผลดีกับผม ยิ่งซ้อม ยิ่งเข้าใจในบทเพลงมากขึ้น เข้าใจในอรรถรส เนื้อหา สัดส่วนดนตรีที่ซับซ้อน เราทำงานหนักทุกตำแหน่ง ผมไม่แปลกใจแต่อย่างใดที่วันหนึ่งมีนายหน้าฝรั่งติดต่อให้เราไปเล่นที่ต่างประเทศ...นั่นเป็นโอกาสที่หาไม่ได้แล้วในวงอื่น ตอนนั้นบรรยากาศทางการเมืองเริ่มไม่เป็นใจให้กับการเล่นดนตรีในประเทศ มีขบวนการนักศึกษาขับไล่ฐานทัพอเมริกัน มันจึงเป็นโอกาสของเรา นั่นแสดงให้เห็นว่า ฝีมือของเราได้รับการยอมรับจากเจ้าของดนตรีร็อคคือยุโรป อังกฤษ และอเมริกา” เอกมันต์ เล่า
ชีวิตนักดนตรีร็อคในต่างแดนแตกต่างจากบ้านเกิดเมืองนอนอย่างมาก ต้องปรับตัวเรื่องภาษา โดยเฉพาะภาษาเยอรมัน แต่โชคดีที่ดนตรีมันเป็นภาษาสากล จึงปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว
“ต้องยกเครดิตให้กับ พี่วิน คัมภีร์ ภาษาเขายอดเยี่ยมมาก สื่อสารบนเวทีได้อย่างออกรสชาติ ฝรั่งทึ่งในฝีมือเรามาก บางคนยังไม่รู้เลยว่าเมืองไทยอยู่ที่ไหน แต่พวกเขาก็ประหลาดใจที่เห็นวงของคนหัวดำมาจากประเทศไทย เล่นเพลงของพวกเขาได้อย่างช่ำชองไม่แพ้วงใดในเยอรมัน
“หลังจากนั้นชื่อเสียงเราขจรขจายไปทั่วเยอรมัน ต้องวิ่งรอกเล่นกันหลายที่ในแต่ละเดือน จากนั้นก็มีนายหน้าติดต่อไปเล่นที่นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย เครดิตก็ต้องยกให้พี่แหลมด้วย จากการได้ฉายา กีตาร์ คิง ตอนประกวดที่เยอรมัน มันเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งผมเองก็ไม่คิดว่าจะไปไกลถึงขนาดนั้น การมีโอกาสดูคอนเสิร์ตระดับโลกอย่าง Weather Report, Yes, Genesis, Ted Nugent, Billy Cobham, Led Zeppelin, Uriah Heep, Santana, Frank Zappa มันทำให้เราเพิ่มพูนทักษะในการฝึกฝน พัฒนาฝีมือไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ กับ V.I.P. นี่เป็นประสบการณ์ที่วิเศษสุดแล้วสำหรับผม” เขาเรียกเบียร์ขวดต่อมา พร้อมรอคำถามถัดไป
ไม่รอช้า เรามอบคำถามเรื่องความภาคภูมิใจในการเล่นต่างแดน?
“ผู้ชมเป็นฝรั่งทั้งหมด สถานที่ก็เป็นบาร์ร็อค พวกเขาล้วนตั้งใจมาเสพดนตรีร็อค แต่งตัวด้วยชุดหนัง ซึ่ง V.I.P. ก็ใส่ชุดหนังทั้งวง มันให้ความรู้สึกเป็นร็อคอย่างแท้จริง บางคืนมาเป็นขบวนฮาร์เล่ย์ พวกเขาสนุกกับดนตรีของเรา บางคนติดใจมาก ๆ ตอนเลิกยังมาช่วยเก็บข้าวของ มีนักดนตรีฝรั่งมาเที่ยวบ่อย อย่าง Scorpions เราก็เคยแจมกันมาแล้ว Michael Schenker บางคืนแจมเพลงบลูส์กันสนุกบรรลัย ความภาคภูมิใจเกิดขึ้นเพราะวง V.I.P. นี่แหละ ผมเล่นกลองแบ็คอัพให้ตลอด ทุกคืนต้องมีการโซโลกลอง ซึ่งเป็นธรรมเนียมของการแสดงดนตรีร็อค
“การโซโลกลองช่วยเพิ่มความเข้มข้นให้กับการแสดง และผมได้แสดงออกกับกลองของผมได้อย่างเต็มที่ แสดงฝีมือออกมาให้คนดูเห็น ไม่ให้เกิดอคติขึ้นมาว่า เอากลองมาโชว์เพียงอย่างเดียว มันจะขัดกับความรู้สึก ต้องแสดงออกอย่างธรรมชาติ เป็นตัวตนของเราอย่างที่สุด ซึ่งโดยหน้าที่แล้ว กลองเป็นเสมือนคนรักษาประตูฟุตบอล ทำหน้าที่ส่งลูก ตอบโต้ลูก ก็คือการคุมจังหวะไม่ให้คลาดเคลื่อนและไม่เป็นอุปสรรคของวง แต่เมื่อต้องส่งลูกกลองออกไป ถึงจะแสดงเทคนิคว่า นี่คือการตีในสี่ห้อง ห้องหนึ่งควรตีอย่างไรให้ผู้ชมเกิดความสนใจ
“ผมใช้ความจำเป็นหลักในยุคแรกเริ่ม ฟังเพลงเที่ยวเดียวตั้งแต่ตอนต้นจนตอนจบการเปลี่ยนจังหวะในห้องหนึ่ง ขอยกตัวอย่างเพลงหนึ่งที่มีท่อนโซโลกลองคือเพลง YYZ ของคณะ Rush ผมใช้เวลาในการฝึกและแกะเพลงนี้ร่วมเดือน เป็นเพลงที่มีจังหวะกลองซับซ้อนมาก จะเล่นตามเมโลดี้ ซึ่งวง Rush เล่นกันสามคนมีเบส กีตาร์ กลอง ใช้เบสเป็นหลักในการจำจังหวะ ฟังเสียงกระเดื่อง และมือเคาะจังหวะ ซึ่งมือของผมมีความไวกว่าเท้า แต่ความไวไม่สำคัญเท่าน้ำหนักมือ หลายคนเล่นไว แต่เสียงไม่หนักแน่น ส่วนการฝึกน้ำหนักของข้อมือขอให้เป็นโน้ตแม่บทในตำราฝรั่งจากซ้ายขวา ขวาซ้าย ขวาซ้าย ซ้าย ซ้าย ขวา ขวา สำหรับเท้าก็ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก ผมเองฝึกหัดมือได้เร็วกว่าเท้า ซึ่งต้องใช้ความพยายามมากกว่า ตอนแรกก็เป็นจังหวะตกยก ตกยก ฝึกแบบวันแอนด์วัน แอนด์วัน ฝึกข้อมือกับไม้ให้คล่องและใช้เท้าฝึกกระเดื่อง การฝึกเท้าขวาเท้าเดียวให้มากกว่าการฝึกเท้าซ้าย....” เอกมันต์ อธิบาย
แรงบันดาลใจในการตีกลองตั้งแต่แรกเริ่ม จนถึงการเป็นนักดนตรีมืออาชีพ เอกมันต์บอกว่าผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้คือ อาจารย์มังกร ปิ่นแก้ว เริ่มต้นจากการไม่รู้โน้ต จนเรียนรู้กลเม็ดเด็ดพรายทั้งหลายแหล่จากอาจารย์ท่านนี้ และตอนหลังก็มาเรียนเพิ่มเติมเรื่องโน้ตที่โรงเรียนดนตรีศุภการและที่ศศิลิยะ
“ถามว่าโน้ตสำคัญมั้ย สำคัญ แต่อย่าวางกรอบให้ตัวเองอยู่ในนั้น ดนตรีเกิดจากมันสมอง การสร้างสรรค์ ตัวโน้ตเป็นเพียงแนวทางกว้าง ๆ มันอาจจำเป็นสำหรับดนตรีที่ต้องใช้ทฤษฎีอย่างดนตรีคลาสสิค แต่สำหรับดนตรีร็อค จำเป็นเพียงบางส่วน ผมยกตัวอย่างเช่น มือกลองที่ผมโปรดปรานและเป็นแรงบันดาลใจให้ผมมาจนถึงวินาทีนี้ ผมยกให้ Neil Pert แห่งวงโพรเกรสซีฟ ร็อค ยอดเยี่ยมจากแคนาดา วง Rush เขาตีกลองซับซ้อนมาก ยากแก่การจดจำ แต่พอศึกษาลึกเข้าไปมาก ๆ มันจะมีแนวทางที่เรามองเห็น ผมชื่นชอบ Neil Pert มาก ดนตรีของเขาจะใช้เบสเป็นหลัก เพราะนักร้องนักแต่งเพลงคือมือเบส Geddy Lee เพราะฉะนั้น มันจึงเปิดโอกาสให้กลองกับเบสเดินทางควบคู่กันไปอย่างลงตัว
“สังเกตว่าวง Rush จะไม่มีโซโลกีตาร์ แต่จะเน้นที่เบสกับกลอง จังหวะจึงออกมาลงตัว วงไทยผมยังไม่เคยเห็นวงไหนเล่นเพลงของวงนี้...สำหรับผมถ้าวันไหนอยากฝึกปรือไม่ให้ฝีมือตัวเองลดลงไปตามอายุขัย ผมจะฝึกเพลงของวงนี้ แต่ที่จริงยังมีมือกลองระดับเยี่ยมอีกหลายคนที่ผมนับถือ John Bonham ของ Led Zeppelin ก็เยี่ยมยอด เขาเล่นจังหวะตกยก ได้ยอดเยี่ยมมาก แม้กีตาร์ของ Jimmy Page จะไปไกลแค่ไหนในการแสดงสด Bonham ตามทันทุกลูก ถึงพริก ถึงขิง Keith Moon มือกลอง The Who ก็ตีกลองเข้าขั้นบรรลุนิพพานอีกคน ลูกส่งร้ายกาจทุกลูก Bill Wards ของ Black Sabbath ก็ยอดเยี่ยมอีกคน ตีสแนร์และส่งแฉได้ครบเครื่อง...”
[caption id="attachment_15499" align="aligncenter" width="960"]
เอกมันต์ในวัยหนุ่ม (ภาพจาก Facebook: เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง)[/caption]
ส่งคำถามโดยพลันอีกว่า เปรียบเทียบฝีมือสมัยก่อนกับยุคที่อายุเริ่มมากขึ้น แตกต่างกันหรือไม่?
“ผมว่าไม่นะ คนที่มาดูผมทุกครั้ง จะมาดูความเป็น เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอกลักษณ์ที่เราสร้างขึ้นมา เขาอยากมาดูการโซโลที่หาดูไม่ได้อีกแล้วในยุคนี้ ถึงจะมี แต่อย่าลืมว่าลูกเล่นของมือกลองยุค 70s ร้ายกาจกว่ายุคไหน คุณไปดู Ian Paice ของ Deep Purple เขาโซโลกลองได้เป็นชั่วโมง นั่นเพราะเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเขา ผมก็มีเอกลักษณ์ของผม
“ยุคนี้กับยุคโน้น คงจะแตกต่างกันที่น้ำหนักการลงข้อมือ สมัยวัยรุ่นเราก็จะเอาความหนัก ความดังเข้าว่า แต่พออายุมากขึ้น เราจะให้ความสำคัญแก่น้ำหนักข้อมือ แต่ก็ขึ้นอยู่กับแนวเพลงนะ ถ้าพวกหนัก ๆ อย่าง Black Sabbath ก็ต้องฟาดให้ถึงกึ๋นส์ แต่พวกร็อคกระแสอย่าง Bon Jovi, Guns N' Roses ก็ไม่ต้องหวือหวาอะไรมาก ผมว่าเพลงร็อคยุคนี้ง่ายกว่ายุคผมเยอะ ยุคผมกว่าจะแกะแต่ละเพลงได้ใช้เวลาหลายชั่วโมง มันคนละยุคสมัยกัน พูดไปก็ไม่พ้นยุค 70s อยู่ดี มือกลองระดับโลกเกิดขึ้นในยุคนี้แทบทั้งนั้น Phil Collins แห่ง Genesis หรือ Alan White ของวง Yes ล้วนแล้วแต่ฝากฝีไม้ลายมือให้เราได้ศึกษาเป็นอย่างดี”
เมื่อบทสนทนาไหลลื่น ถามตอบจึงราวกับรัวกระเดื่องไม่ยั้ง อย่างเรื่องการร่วมงานกับ อัสนี-วสันต์ ที่บางคนบอกว่าเอกมันต์เปลี่ยนแนวทางแล้ว?
“อัสนีเป็นนักดนตรีที่รอบจัด เขาเล่นเพลงแนวโพรเกรสซีฟ ร็อค (วง Triangle Lake) มาก่อน เพราะฉะนั้น เพลงป๊อปร็อคจึงหมูสำหรับเขา คุณจะเห็นว่าอัสนีแต่งเพลงป๊อปร็อคติดใจคนมากมาย แทบจะทุกอัลบั้มเลยก็ว่าได้ การร่วมงานกับนักดนตรีไทยที่เก่ง ผมถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมเหมือนกัน และอัสนีก็เปิดโอกาสให้ผมได้โซโลกลองทุกครั้งของการทัวร์คอนเสิร์ต มันเป็นการแสดงที่เป็นเหมือนหัวใจของร็อคที่เรามีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เด็กรุ่นใหม่รู้จักเอกมันต์มากขึ้น หลายคนเป็นแฟนรุ่นนั้นก็ยังตามมาดูที่ร็อคผับ เพลงที่ผมจะต้องเล่นทุกคืนคือเพลง ‘สายล่อฟ้า’ เพลงนี้อัสนีเปิดโอกาสให้ผมตีกลองในแบบฉบับที่ผมเป็น คือหนักไปในทางเฮฟวี่ เมทัล ซึ่งผมก็เห็นว่า มันเป็นเพลงไทยเฮฟวี่ เมทัล ที่สมบูรณ์แบบเพลงหนึ่ง กลอง กีตาร์ เบส ลงตัว เหมือน ‘Highway Star’ ของ Deep Purple ผมถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของผมในงานของอัสนี เป็นประสบการณ์ที่ดีอีกช่วงหนึ่งของการเล่นเพลงไทย” เอกมันต์ เฉลยเหตุผล
ยังต้องฝึกซ้อมกลองทุกวันไหม? คือคำถามถัดมา
“ฝึกครับ แต่อาจจะไม่เหมือนสมัยหนุ่ม อย่างที่บอกเพลงร็อคสมัยนี้ มันไม่ต้องใช้แรงเหมือนยุค 70s ผมออกกำลังกายด้วยการวิ่งทุกวัน พวกแอลกอฮอล์ก็ต้องลดลงตามสัดส่วนของอายุ ผมภูมิใจที่ยังยืนหยัดมาได้ถึงทุกวันนี้ นักดนตรีรุ่นผม เลิกเล่นไปทำมาหากินอย่างอื่นหมดแล้ว เหลือผมกับพี่แหลมนี่แหละที่ยังไม่ไปไหน เราเลือกเส้นทางนี้แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ ก็คงจะเล่นจนกว่าจะหมดแรง แต่อย่างที่บอกดนตรีร็อครุ่นใหม่ไม่ได้ใช้แรงอะไรมากมายในการขับเคลื่อน ผมคิดว่ายังไปได้อีกหลายสิบปี อย่างการตีกลองแบบผมก็ไม่มีใครทำได้เหมือน แฟนเพลงก็ยังคงมาเสพดนตรีของผมอย่างต่อเนื่อง ยิ่งวันไหนพี่แหลมมาเล่นที่ร็อคผับ เราไม่พลาดที่จะแจมกัน เล่นกับใครก็ไม่สนุกเหมือนพี่แหลม มันรู้ใจกันมานาน มองตารู้ตีนว่าจะตียังไง พี่แหลมก็รู้ว่า ผมมาแบบนี้ แกจะไปยังไง มีแต่ความสนุก วงมันดีของผมก็ยังคงปักหลักอยู่ที่ร็อคผับ บางสัปดาห์ผมก็ไปสลับกับวงอื่นที่แถวถนนข้าวสาร”
[caption id="attachment_15502" align="aligncenter" width="960"]
ส่วนหนึ่งของสมาชิกวง V.I.P. (ภาพจาก Facebook: เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง)[/caption]
ดนตรีร็อครุ่นใหม่ ๆ เป็นอย่างไรบ้าง ได้ลองเล่นบ้างหรือเปล่า ชื่นชอบใครเป็นพิเศษบ้าง?
“อย่างที่บอก ดนตรีรุ่นผมมันบรรลุนิพพานไปแล้ว ผมจึงไม่เห็นว่าจะมีดนตรีรุ่นใหม่มาทัดเทียมได้ แต่ผมก็ไม่ได้ดูถูกพวกเขาหรอก มันเป็นเรื่องของยุคสมัย เด็กรุ่นใหม่เขาก็เล่นของเขาไป ผมว่ามันต่างกันที่คุณค่า เพลงร็อครุ่นใหม่ไม่สามารถมีมูลค่าได้แบบ Pink Floyd, Led Zeppelin ไม่มีเพลงที่อมตะอย่าง ‘Stairway to Heaven’ อีกต่อไป หรืออย่าง ‘Bohemian Rhapsody’ ของ Queen หรือ ‘Hotel California’ ของ The Eagles หรือเพลงที่มีท่อนโซโลยาวเหยียดแต่เป็นเรื่องเป็นราวแบบ ‘Free Bird’ ของ Lynyrd Skynyrd เพลงคำภีร์ฮิปปี้อย่าง ‘Born to be Wild’ หรือ อมตะอย่าง ‘Cocain’ ของ Eric Clapton คนรุ่นนั้นมีเวลาใคร่ครวญกับเนื้อหาสาระของเพลง วรรณกรรมก็เฟื่องฟู บทกวีก็หลากหลาย ภาพยนตร์ก็สุดยอด หนังเยี่ยม ๆ ล้วนเกิดมาในยุคนั้นแทบทั้งสิ้น
“เวลามาถึงยุคดิจิทัล ไม่มีใครใส่ใจรายละเอียดของชีวิตอีกต่อไปแล้ว มือถือแย่งเวลาของเราไปหมด เทคโนโลยีทำให้เรากลายเป็นคนบ้า ทำอะไรได้เพียงสั้น ๆ ย้ำคิดย้ำทำอยู่บนจอ เพลงก็เหมือนกัน บางเพลงผมฟังแล้ว ห่า ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย จบห้วน ๆ ซะยังงั้น เอาแต่ตีคอร์ดโฉ่งฉ่าง แต่ไม่ว่ากันหรอก ยุคใครยุคมัน คุณค่าก็ย่อมต่างกัน”
เอกมันต์ ผลิตกลองยี่ห้อตัวเองออกมาชื่อยี่ห้อ EKAMUN มีที่มาที่ไปอย่างไร หรือน่าจะทำตั้งนานแล้ว?
“ผมตั้งใจทำเป็น limited edition ทำขึ้นมาเพียงไม่กี่ชุด อย่างน้อยก็ทำให้เราเรียนรู้ธุรกิจการค้า นอกจากเล่นเพียงอย่างเดียว คนที่ซื้อกลองชุดนี้ น่าจะเป็นคนที่อยากเก็บสะสมงานของผมไว้เป็นที่ระลึกด้วย ผมใช้วัสดุอย่างดีจากต่างประเทศ คุณภาพไม่แพ้กลองยี่ห้อดัง ๆ ผมเรียนรู้การใช้วัสดุจากมือกลองชั้นเยี่ยม แล้วเก็บเล็กผสมน้อยมาเป็นของตัวเอง ตั้งใจใช้ชื่อตัวเอง เพราะง่ายและสะดวกแก่การจดจำกว่าชื่ออื่น พอคนเห็นก็รู้ว่าเป็นกลองของผม เป็นกลองของเอกมันต์ ถ้ามันเป็นธุรกิจได้ก็ดี แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจขนาดนั้น มันเป็นของที่ระลึกสำหรับคนที่เป็นแฟน ๆ ผม ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยทั่วเมืองไทย..ผมหวังว่ามันคงจะไปได้ดี”
5 ทุ่มครึ่ง ได้เวลาของวง “มันดี” ผู้คนชาวร็อคต่างทยอยเข้านั่งประจำที่ มือกลองสุดโปรดของเขา เข้าประจำที่แล้ว ผมยังยาวสวยเก๋ ไม่เคยหงอกไปตามอายุ พลังงานยังคงฟิตปั๋ง พร้อมกับอุปนิสัยที่ติดตลกเป็นนิจศีล ว่ากันว่า ถ้านั่งสนทนากับเอกมันต์ จะได้ยินเสียงของเขาไม่ขาดสายจากวงสนทนาสุราเมรัย นั่นเป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่เขาบอกว่า ทำให้อายุยืนยาว
“อย่าไปซีเรียสกับชีวิต มีโอกาสจงหัวเราะกับเพื่อนฝูง ถ้าคุณเป็นคนเครียด คุณเล่นดนตรีร็อคไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นฉายามือกลองปลิดวิญญาณ คือเราสลัดความกังวลทุกครั้งที่ขึ้นเวทีแล้วเล่นอย่างถอดหรือปลิดวิญญาณ ดนตรีมันจะแสดงตัวตนของคุณออกมาให้เห็นอย่างแจ่มชัด ผมยึดถือคตินี้มาโดยตลอด ไม่ว่าเวทีไหน ในหรือต่างประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่า วิญญาณผมจะหายไปหลังการแสดง มันยังคงอยู่ครบถ้วนกับสองตีน สิบนิ้ว สองมือ สิบนิ้วของผม มันจะทำงานเมื่อถึงเวลาของร็อคแอนด์โรลล์..”
การจราจรอลหม่านบัดซบข้างนอกคลายความตึงเครียดลงมาบ้างแล้ว ลมเย็นโชยชวยพัดมาบ้าง เราสั่งเบียร์ขวดที่ไม่ได้นับมาประดับริมฝีปากเพิ่ม มันช่วยเพิ่มดีกรีในการฟังเพลงร็อคให้บันเทิงยิ่งขึ้น ยิ่งเป็นวงที่เราตั้งใจมาดู มันก็ยิ่งตอกย้ำความพึงพอใจเราในค่ำคืนแห่งความเหงา เปล่าเปลี่ยวราตรีนี้ เสียงเพลงพวยพุ่งออกมาแล้ว ‘Immigrant Song’ ของ Led Zeppelin เพลงนี้จังหวะกลองเร็ว ต้องอาศัยข้อมือที่แข็งแกร่ง เอกมันต์ตีได้อย่างหนักแน่น เข้ากับเสียงร้องนำของ เหน่ง เดอะ วอยซ์ เบสควบตาม ฝรั่งนักท่องเที่ยวหลายคนขยับหัวโยกตาม ฝีไม้ลายมือกลองของเอกมันต์ ไม่ได้ลดราวาศอก กลองห้าใบทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ สแนร์เร้าใจทึกจังหวะ แฉตามติดเป็นลูกส่งที่เข้าถึงอารมณ์ร็อคแอนด์โรลล์เป็นอย่างยิ่ง เพลงถัดมา ‘Still Got The Blues’ เพลงเก่งของ Gary Moore เพลงนี้ทำนองเชื่องช้า เนิบนาบ นวยนาด แต่ถ้ากลองไม่หนักแน่นพอ เพลงจะหลวม กีตาร์จะหย่อนยาน... Guns N' Roses, Bon Jovi, Uriah Heep, Deep Purple...
เพลงแล้ว เพลงเล่า ในค่ำคืนอันหฤหรรษ์ เอกมันต์สวมวิญญาณ กรีดกราย ร่ายรำทุกบทเพลง นี่คือมือกลองที่ทำหน้าที่สื่อสารกับมวลชนคนหลงใหลผนังกลองร็อค จนกลายเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจมาถึงวินาทีนี้
เรื่อง: พายุหิน กูรู
ภาพจาก Facebook: เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง