15 ก.ย. 2562 | 13:20 น.
ในค่ำคืนหนึ่งที่บ้านแฟนสาวของเขาในย่าน Wimpole Street ขณะที่ชายหนุ่มกำลังหลับใหล จู่ ๆ เขาก็ฝันถึงท่วงทำนองเพลง มันไพเราะมากจนเขาต้องลุกขึ้นจากที่นอนและตรงไปยังเปียโนเพื่อบรรเลงเพลงนั้นก่อนที่มันจะเลือนหายไป อีกไม่กี่เดือนต่อมาเมื่อเพลงนั้นแล้วเสร็จ มันกลายเป็นเพลงแห่งประวัติศาสตร์ในทันที เพลงนี้ชื่อว่า ‘Yesterday’ และชายผู้ใช้ความฝันขับเคลื่อนจนกลายเป็นบทเพลงที่ไพเราะตลอดกาลไม่ใช่ใครที่ไหน คนคนนั้นคือ เซอร์พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Sir Paul McCartney) นั่นเอง ในภาพยนตร์เรื่อง Yesterday (2019) แม้หนังที่เล่าเรื่องถึง The Beatles ที่ถูกหลงลืมไป จะโฟกัสเพียง จอห์น เลนนอน (John Lennon) เท่านั้น และปรากฏตัวตน พอล แม็กคาร์ตนีย์ เพียงแค่เท้าเปล่าที่ปรากฏอยู่ในฝันของพระเอกเท่านั้น ซึ่งดูเป็นการละเลยอย่างน่าเสียดายในฐานะเจ้าของบทเพลงอมตะที่นำมาใช้เป็นชื่อหนัง บทความนี้จึงขอโฟกัสที่ผู้ชายคนนี้ คนที่นำความฝันมาทำให้เป็นเพลงอมตะ และครองสถิติบทเพลงที่ได้รับการทำใหม่มากที่สุดในโลกกว่า 3,000 เวอร์ชัน พอล แม็กคาร์ตนีย์ ถือกำเนิดในวันที่ 18 มิถุนายน ปี 1942 เขาคือผลผลิตของ จิม แม็กคาร์ตนีย์ (Jim McCartney) ผู้ใช้เวลาช่วงเช้าทำงานเป็นเซลล์แมน และเวลากลางคืนเป็นนักดนตรีแจ๊ซที่เดินสายตระเวนเล่นดนตรี ก่อนจะหยุดการเป็นนักดนตรีเมื่อพบรักกับ แมรี แพทริเซีย โมฮิน (Mary Patricia Mohin) แม้จะสิ้นสุดในสายอาชีพ แต่ผู้เป็นพ่อก็พยายามผลักดันเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเองให้เรียนรู้โลกของดนตรี พอลฝึกฝนการเล่นเปียโนตั้งแต่เยาว์วัย แน่นอนว่าพอลไม่ได้ชื่นชอบดนตรีมากนักในขณะนั้น เขาเพียงต้องเล่นเพราะถูกบังคับให้เรียนร่วมกับน้องชาย จนสุดท้ายเมื่อเขาต้องสูญเสียแม่ไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยโรคมะเร็ง เขาถึงเริ่มจับเครื่องดนตรีอย่างจริงจังโดยเลือกเล่นทรัมเปต แต่เครื่องดนตรีที่พอลรักอย่างหมดใจกลับเป็นกีตาร์ ที่แม้การถนัดซ้ายจะเป็นอุปสรรค แต่เขาก็เลือกที่จะสลับสายของมันและเล่นด้วยมือข้างที่ถนัดแทน ช่วงชีวิตวัยรุ่น พอลได้รู้จักกับ จอห์น เลนนอน ที่ตอนนั้นกำลังฟอร์มวงดนตรีแนวร็อกแอนด์โรลที่ชื่อ The Quarrymen เล่นดนตรีในยามค่ำคืน ทั้งสองถูกชะตากันทันทีเมื่อแรกเจอ จนจอห์นเอ่ยปากชวนพอลมาเล่นด้วยกัน ความเหมือนมากมายของทั้งสอง ไม่ว่าจะเรื่องศาสตร์ของดนตรีที่ทั้งคู่ต่างมีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การสูญเสียแม่ในวัยเยาว์ และความทะเยอทะยานที่มีอยู่เต็มล้น ทั้งสองร่วมเขียนเพลงมากมายกว่าร้อยเพลง ออกเดินสายไม่มีวันพัก และความผูกพันนั้นเองก็นำไปสู่การทำวงใหม่ในชื่อ The Beatles โดยได้ ริงโก สตาร์ (Ringo Starr) และ จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) มาร่วมทัพผนึกกำลังเป็นสี่เต่าทอง จากการโปรดิวซ์ของจอร์จ มาร์ติน (George Martin) ที่เล็งเห็นว่าทั้งสี่ต้องโด่งดังและเป็นตำนานในอนาคตอย่างแน่นอน แม้สมาชิกในวงจะมีอยู่ 4 คน แต่แสงสปอตไลท์ก็เลือกจะสาดใส่ที่จอห์นและพอล โดยเฉพาะจอห์นที่เป็นดั่งไอคอนและผู้นำทางความคิดของวง ตอนแรกทั้งจอห์นและพอลต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยในการทำเพลงร่วมกัน โดยทุก ๆ เพลงที่ทั้งสองทำร่วมกันมีการตกลงกันว่าจะใช้ชื่อภายใต้ Lennon / McCartney วง The Beatles ในยุคแรกสร้างเพลงที่น่าจดจำและสร้างภาพจำในสายตาคนฟังด้วยผมทรงกะลาครอบ และทำเพลงร็อกแอนด์โรลในแบบฉบับชาวอังกฤษที่มีจริตและความน่ารัก จนกลายเป็นกระแสสำคัญที่ผลักดันโลกของดนตรีให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความโด่งดังระดับฟีเวอร์ ก่อเกิดเป็น Beatlemania ที่เรามักจะเห็นภาพสาวน้อยกรีดร้องเมื่อได้เห็นหนุ่ม ๆ ทั้งสี่ เกิดจลาจลแทบทุกถิ่นที่พวกเขาไปเหยียบย่าง กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญแห่งดนตรีป๊อปไปในทันที ไม่ใช่เพียงดังในถิ่นกำเนิดเท่านั้น แต่ The Beatles ดังไปทั่วโลก กระทั่งอเมริกา-ประเทศมหาอำนาจที่มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองและยากที่จะเปิดรับใครเข้ามา แต่อเมริกากลับโบกมือทักกวักมือเรียกพวกเขาให้มาโด่งดังอย่างง่ายดาย แล้วความดังก็ไม่ต่างกับดอกไม้ไฟที่ขจรขจายบนฟากฟ้า ชื่อเสียงและเงินทองไหลมาเทมาสู่วง พวกเขาเดินสายทัวร์อย่างหนักหน่วง กินนอนกันอยู่บนรถทัวร์ จนกระทั่งยุคกลางของทศวรรษที่ 60s ยุคแห่งการเสาะแสวงหา แม้กระทั่งวง The Beatles เองก็ไม่หยุดนิ่ง พวกเขาสามารถสร้างงานที่ตามใจตัวเองได้โดยไม่ต้องแคร์ตลาดใด ๆ The Beatles ยุคต่อมาจึงเป็นยุคแห่งอิสระเสรีที่มีอยู่เต็มเปี่ยม พวกเขาไว้ผมเผ้ารุงรัง เลิกทำเพลงตามใจตลาด แต่ตลาดต้องตามใจเขา ด้วยซาวนด์ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แทนที่จะหย่อนคล้อยทางด้านชื่อเสียง กลับทำให้วงกลายร่างเป็นตำนานที่สร้างงานศิลปะบนเส้นเสียงที่ยิ่งใหญ่ และมันก็ค่อย ๆ เปลี่ยนเพื่อนรักให้กลายเป็นศัตรู โดยที่พวกเขาเองไม่รู้ตัว เมื่อพอลรู้สึกว่าภาพลักษณ์ฮิปปีนั้นเข้าทางจอห์นอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ภาพคุ้นชินของพอลในฐานะผู้ชายอบอุ่นกลายเป็นภาพติดตา แม้จะไว้หนวดไว้เครายังไงก็ไม่เข้ากับเขาเท่าไหร่ ไม่นับรวมเพลงที่จอห์นแต่งที่ครอบงำตัวตนของวงจนหมดสิ้น พอลเองไม่คิดว่าจอห์นจะมีอิทธิพลต่อวงขนาดนั้น เขาเริ่มแต่งเพลงโดยไม่หวังพึ่งพาจอห์น ในขณะที่จอห์นเองก็เริ่มรู้สึกว่า พอลเริ่มก้าวก่ายการทำงานของเขาและวง ทำให้เกิดการแข่งขันกันขึ้นไม่ว่าจะเป็นการผลัดกันดันเพลงตัวเองให้เป็นซิงเกิล จนบางครั้งอีโก้ของทั้งคู่ก็ทำให้ค่ายต้องปวดหัวถึงกับต้องออกเป็น Double A Side คือออกซิงเกิล 2 เพลงพร้อมกันไปเลยจะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกัน แม้ภายนอกจะตื่นเต้นกับการแข่งกันในวง เพราะกำไรก็ตกอยู่ที่คนฟังที่ได้ฟังเพลงของวงนี้ตลอดเวลา ทั้งสองเริ่มสร้างงานที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด จะเริ่มเห็นท่าทีอันแข็งขืนในเพลงของจอห์นในยุคที่อ่อนไหวกับเรื่องสงครามเวียดนามและประชาชนเริ่มเรียกร้องเรื่องเสรีภาพ ส่วนพอลกลับยังคงเสนอเพลงในแนวทางป๊อปอยู่ แม้จะมีกลิ่นของเพลงร็อคหัวก้าวหน้าบ้าง แต่แฟนเพลงก็จับลายเซ็นที่แตกต่างของทั้งสองได้ ตัวอย่างง่าย ๆ เกิดขึ้นในเพลง ‘Penny Lane’ บทเพลงแห่งความหลังบนถนนเส้นที่ทั้งพอลและจอห์นเดินทางไปมาหาสู่กันในตอนช่วงวัยรุ่น พอลเลือกทำเพลงที่ดูสดใสโลกสวย ส่วนจอห์นเลือกทำเพลง ‘Strawberry Fields Forever’ ที่มีความซับซ้อนและกวีกว่า ซึ่งเขาเองก็เล่าเรื่องราวในวัยเด็กอันแสนขมขื่นของเขา แม้จะเป็นเรื่องเล่าในเมืองเกิดของทั้งคู่ แต่ก็เห็นได้ว่าทั้งสองอยู่กันคนละขั้ว ดูเหมือนความเจ้ากี้เจ้าการและความพยายามแทรกแซงความคิดของพอลจะค่อย ๆ สร้างความเบื่อหน่ายให้กับวงอย่างมาก ๆ แม้อัลบั้มชุด Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band จะเป็นหนึ่งในงานมาสเตอร์พีซของวง แต่วงกลับไม่รู้สึกว่ามันดีตรงไหน ความเบื่อหน่ายในความเจ้ากี้เจ้าการของพอลเสมือนแก้วที่ค่อย ๆ เห็นรอยร้าว และคนที่มาทำให้มันแตกเป็นเสี่ยง ๆ ก็คือนางฟ้าในสายตาจอห์น แต่เป็นนางมารในสายตาของวง นั่นก็คือ โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) นั่นเอง เมื่อเธอเข้ามาในชีวิตของจอห์นโดยเริ่มจากทำให้รักของจอห์นกับ ซินเธีย โพเอลล์ (Cynthia Powell) ต้องขาดสะบั้น จนพอลแต่งเพลง ‘Hey Jude’ เพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกชายของจอห์น เพราะพอลสนิทกับซินเธีย แน่นอนมันกลายเป็นเพลงที่งดงามมาก ๆ ขณะที่วงก็ถึงทางตันและแตกกันในที่สุด แต่ถึงแม้จะแตกกัน ทั้งจอห์นและพอลกลับยังคงเป็นคู่แค้นแสนรัก เป็นศัตรูผู้เป็นมิตรอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย แม้กระทั่งภาพปกอัลบั้มทิ้งทวนการทำงานของพวกเขา Abbey Road กับภาพจำที่เป็นรูปทั้งสี่คนเดินข้ามทางม้าลายบนถนน Abbey Road ยังถูกตีความว่า พอลนั้นได้ชิงตายไปแล้วจากการเดินเท้าเปล่าของเขา ในขณะที่เพื่อนทั้งสามยังใส่รองเท้าข้ามถนน ทุกคนต่างมองข้ามและหันไปสนใจแต่จอห์น เมื่อสี่เต่าทองล่มสลาย ทุกคนต่างแยกย้ายกันไปตามทางของตัวเอง มีพอลและจอห์นเท่านั้นที่ยังคงแย่งชิงพื้นที่สื่อกันอย่างเผ็ดร้อน เมื่อจอห์นและโยโกะสร้างภาพจำในฐานะบุปผาชน ผู้เรียกร้องสันติภาพใช้ความรักทำลายสงครามด้วยภาพเปลือยคู่อันอื้อฉาว หรือการโหยหาเสรีภาพผ่านศิลปะมากมาย และความรักในระดับขั้นหลงของจอห์นนำพาให้เขาไปไกลสุดขอบในฐานะ “ศิลปิน” ส่วนพอลนั้นพบรักกับ ลินดา อีสต์แมน (Linda Eastman) พยายามที่จะผลักดันตัวเองในฐานะ “พอล-ลินดา” เหมือนกับที่ “จอห์น-โยโกะ” ได้ทำไว้ แน่นอนว่าไม่มีใครจดจำได้ ไม่เท่านั้น จอห์นยังคงกัดจิกพอลผ่านบทเพลงที่แสบที่สุดคือ ‘How Do You Sleep?’ ที่จอห์นแขวะพอลด้วยเนื้อเพลงที่ว่า "The only thing you done was yesterday / And since you've gone you're just another day" แน่นอนว่าจอห์นพูดถึงเพลง ‘Yesterday’ ของพอล เพลงที่พอลพยายามอย่างมากที่จะเปลี่ยนเครดิตเป็น McCartney / Lennon ที่ชื่อของตนนำหน้าจอห์น แต่ไม่เคยทำสำเร็จจวบจนปัจจุบัน แม้จะพยายามแข่งขันกันอย่างไร พอลก็ไม่เคยชนะจอห์นได้สักครั้ง ซ้ำร้ายเพื่อน ๆ ที่เหลืออย่างจอร์จและริงโกก็เลือกที่จะช่วยเหลือจอห์นมากกว่าพอล ตัวพอลทำวงที่ชื่อวง Wings แม้จะเป็นเพลงป๊อปที่เอาใจคนฟังหมู่มาก แต่พอลเองก็ไม่เคยทำเพลงได้ในระดับเดียวกับที่จอห์นทำได้กับเพลง ‘Imagine’ เลย ตลอดยุค 70s คือสงครามประสาทที่ทั้งสองต่างปั่นให้กันและกันที่ทั้งยืดเยื้อและยาวนาน แต่ความแค้น การแข่งขันหรือความเกลียดชังใด ๆ ก็ตามแต่ มักจะจืดจางได้เมื่อระยะเวลาผ่านพ้นไป แม้ทั้งสองจะเป็นคู่แค้น แต่เพราะความผูกพันรวมไปถึงการจัดการลิขสิทธิ์เพลงของ The Beatles ก็ทำให้ทั้งสอง (รวมถึงทั้งวง) ไม่สามารถตัดกันขาดได้ การแวะเวียนไปมาหาสู่กันก็ทำให้แฟน ๆ รู้สึกได้ว่าน่าจะมีข่าวดีต้อนรับทศวรรษ 80s จนกระทั่งข่าวร้ายมาเยือน เมื่อจอห์นถูกแฟนคลับที่คลั่งไคล้เขามากยิงเสียชีวิต คนที่เจ็บปวดไม่แพ้ครอบครัวของจอห์นคงไม่พ้นพอล ที่เหมือนการแข่งขันของทั้งสองจำต้องยุติไปตลอดกาล และความหวังที่จะเห็นวง The Beatles ทำงานร่วมกันก็มีเพียงแค่วาระของอัลบั้มรวมฮิตเท่านั้น พอลสงบและสุขุมมากขึ้นหลังการจากไปของจอห์น เขาอุทิศเพลงที่ชื่อ ‘Here Today’ ในอัลบั้ม Tug of War ที่กล่าวถึงเพื่อนรักของเขา แน่นอนว่าอัลบั้มนั้นคืออัลบั้มที่ดีอีกชุดของพอล แม้เพื่อนรักของเขาจะเหลือเพียงชื่อและกลายเป็นตำนาน พอลยังคงสร้างงานต่อไปไม่หยุดนิ่ง เขากลายเป็นพี่ใหญ่ที่ศิลปินแต่ละยุคต้องเชิญชวนเขามาแจม ตั้งแต่ ไมเคิล แจ็คสัน ไปจนถึง คานเย เวสต์ ในวาระยิ่งใหญ่ระดับโลก เขาได้รับตำแหน่ง "เซอร์" จากสมเด็จพระราชินีอังกฤษ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 1997 พอลมักจะไปปรากฏตัวในฐานะตำนานที่ยังคงมีลมหายใจ ในขณะที่ชีวิตส่วนตัวของเขากลับเรียบง่าย เขาเป็นมังสวิรัติเต็มขั้น และใช้ชีวิตธรรมดากับภรรยาคนปัจจุบัน แนนซี เชฟเวลล์ (Nancy Shevell) จนถึงทุกวันนี้ แม้โจทย์ของหนัง Yesterday จะสรุปห้วน ๆ ง่าย ๆ ว่าโลกที่ไร้ The Beatles ดูช่างเป็นโลกที่จืดชืดไร้สีสัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันที่จะเป็นที่หนึ่งภายในวงระหว่างพอลกับจอห์น ก็พิสูจน์ได้ว่า การแข่งขันก็ก่อให้เกิดผลงานที่ดีมากมาย และสำหรับคนที่แม้กระทั่งฝันยังกลายเป็นบทเพลงกล่อมโลกที่แสนวิเศษและยอดเยี่ยมอย่าง ‘Yesterday’ แล้ว... พอล แม็กคาร์ตนีย์ คืออัจฉริยะแห่งดนตรีป๊อปตัวจริง ... บทความอื่นที่เกี่ยวของกับวง The Beatles - “เพื่อนกูรักเมียมึงว่ะ” รักสามเศร้า สะท้านวงการเพลง กับ ภารกิจเคลมเมียเพื่อนของ เอริค แคลปตัน อ่านได้ที่ลิงก์นี้ https://thepeople.co/the-story-of-pattie-boyd-wife-of-george-harrison-and-eric-clapton/