04 มิ.ย. 2563 | 20:57 น.
“ชีวิตและความตายของเธอทำให้เสียงของชาว LGBTQ+ ดังขึ้นกว่าเดิม”
ทุกคนรู้ว่าชาวผิวดำโดนเหยียดและถูกมองว่าเป็นชนชั้นล่างของสังคมอเมริกัน แล้วถ้าคนผิวดำที่เป็นสาวข้ามเพศจะมีความผิดมากขึ้นขนาดไหน เธอจะอยู่ตรงไหนของชนชั้นทางสังคม เธอจะหลบซ่อนจากความจริงอันโหดร้าย หรือออกมายืนหยัดเพื่อให้คนรู้ว่าเกย์ เลสเบี้ยน หรือ ทรานส์ ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งไม่ต่างจากใคร มาร์ชา พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) นักเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมกันทางเพศ หนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์กรสตาร์ (Street Transvestite Action Revolutionaries-STAR) ร่วมกับซิลเวีย ริเวร่า (Sylvia Rivera) เป็นองค์กรแรกของโลกที่ตั้งโดยหญิงข้ามเพศผิวดำ ช่วยเหลือชาว LGBTQ+ ทุกคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ยื่นมือเข้าปลอบโยนวัยรุ่นที่ต้องออกจากบ้านเพราะครอบครัวไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศ จัดหาที่พักพิงไม่ให้พวกเขากลายเป็นคนไร้บ้าน ก่อนกลายเป็นนักเรียกร้องสิทธิจนถูกยกย่องให้เป็น ‘ควีน’ (ย่อมาจากแดรกควีน ใช้เรียกผู้ชายแต่งตัวจัดจ้านแบบผู้หญิง) มาร์ชาเติบโตมาในครอบครัวเคร่งศาสนาที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ พร้อมกับคำสอนที่แม่พร่ำบอกลูก ๆ เสมอ ว่าคนผิดเพศต่ำต้อยยิ่งกว่าหมา แต่มาร์ชาไม่เคยโกรธที่แม่คิดแบบนั้น เธอเข้าใจดีว่าแม่ไม่มีโอกาสเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ความหลากหลายทางเพศ’ เมื่ออายุ 17 ปี มาร์ชาตัดสินใจไปตามหาความฝันที่มหานครนิวยอร์กพร้อมกับเงินติดตัวเล็กน้อย แต่ต้องพบกับความจริงที่ยากจะรับไหว เธอไม่สามารถหางานทำ กลายเป็นคนไร้บ้าน อดอยากอยู่ในเมืองใหญ่ที่ไม่มีใครแบ่งเวลามาสนใจเรื่องของคนไม่รู้จัก โดยเฉพาะชายผิวดำแต่งตัวเหมือนผู้หญิง เธอจึงตัดสินใจหาเลี้ยงตัวเองด้วยการขายบริการทางเพศ แม้มีชีวิตยากลำบาก มาร์ชากลับพบความสุขเล็ก ๆ จากการได้แต่งตัวตามต้องการ ใส่ส้นสูงพลาสติกสีแดง แต่งตัวด้วยเดรสราคาถูก สวมมงกุฎดอกไม้ทำเองจากเศษดอกไม้ที่ร้านขายของไม่ใช้แล้วเพื่อออกไปเดินเล่นบนถนนคริสโตเฟอร์ แหล่งรวมสถานบันเทิงยามค่ำคืน ชาวเกย์ในนิวยอร์กช่วงปี 1950-1970 ต้องปกปิดตัวตนจากสังคมเพราะกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน มีข้อห้ามหลายอย่างที่ทำให้เกย์ไม่สามารถทำอะไรได้เลย เช่น ห้ามเพศเดียวกันเต้นรำในที่สาธารณะ ห้ามสถานบันเทิงขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่คนท่าทางเหมือนพวกรักร่วมเพศ หรือห้ามแต่งตัวด้วยชุดของเพศตรงข้ามเกินสามชิ้น บ่อยครั้งที่ตำรวจบุกบาร์เกย์เพื่อจับกุมคนในร้าน ทำร้ายร่างกายคนอื่นแม้พวกเขาไม่ได้ขัดขืนหรือหนีการจับกุม ด่าทอเกย์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย คล้ายกับว่าพยายามลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตรงกับคำบอกเล่าของแพทกับเทอร์รี่ คู่รักเกย์เคยเล่าไว้ในสารคดี A Secret Love (2020) ว่าตำรวจบุกบาร์เกย์มากกว่าสนใจจับโจรผู้ร้าย วันที่ 28 มิถุนายน 1969 เวลาประมาณตีหนึ่งครึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกบาร์เกย์เหมือนปกติ คราวนี้ตำรวจเลือกตรวจร้าน สโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) บาร์เกย์ชื่อดังย่านกรีนิชวิลเลจ ทว่าการตรวจครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหน ความอดทนกลุ่มเกย์เดือดถึงขีดสุดจากการโดนรังแกซ้ำ ๆ เกินรับไหว หลายคนไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ดูบัตรประจำตัวประชาชน ไม่ยอมให้ตำรวจพาตัวไปตรวจสอบเพศสภาพแต่กำเนิดในห้องน้ำ มีคนสาบานว่าเห็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์คนหนึ่งพยายามลวนลามเลสเบี้ยนระหว่างค้นตัว ระหว่างจับกุมคนไปโรงพัก เกย์ที่ถูกใส่กุญแจมือคนหนึ่งตะโกนขึ้นว่า “Gay Power!” คนในบาร์และชาวนิวยอร์กที่มุงอยู่หน้าร้านเริ่มส่งเสียงไม่พอใจ พวกเขาถูกรังแกมามากพอแล้ว หลายคนโยนเศษเหรียญให้เจ้าหน้าที่ ขว้างปาขวดน้ำใส่รถตำรวจ จัดการทุ่มถังขยะบริเวณรอบ ผู้คนรู้สึกโกรธแค้นจนเกิดเหตุการณ์ชุลมุน เจ้าหน้าที่หลายนายสามารถขับรถหนีออกจากย่านได้ บางคนหนีไม่ทันเลือกพาตัวเกย์ที่ถูกใส่กุญแจมือเข้าไปหลบอยู่ในบาร์สโตนวอลล์ อินน์ คืนแห่งความวุ่นวายจบลงด้วยการปราบปรามของเจ้าหน้าที่พิเศษนิวยอร์ก และมีผู้บาดเจ็บกว่า 30 คน มาร์ชาถูกกล่าวหาว่าเป็นคนแรกที่ปาอิฐใส่กระจกของบาร์ แต่มีหลายคนบอกว่าเห็นมาร์ชาไปถึงสโตนวอลล์ อินน์ ตอนบาร์ไฟไหม้เกือบหมดแล้ว จนถึงตอนนี้ยังมีคนปักใจเชื่อว่าเธอคือหัวหอกสำคัญที่ขับไล่ตำรวจ หากคิดว่าเกิดเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นหนึ่งคืนแล้วจบก็คงต้องขอให้คิดใหม่ คืนต่อมาเกิดการชุมนุมขึ้นอีกครั้ง ผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันหน้าบาร์ที่ไหม้เกรียม ทั้งเกย์ นักท่องเที่ยว นิวยอร์เกอร์ที่เกลียดตำรวจ รวมถึงมาร์ชาเข้าร่วมประท้วงการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อเกย์ และการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิของเพศทางเลือกถูกจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 6 คืน
พวกตำรวจกดขี่ข่มเหงเรานานเกินไปแล้ว”
– มาร์ชา พี. จอห์นสัน
‘เหตุการณ์ลุกฮือที่สโตนวอลล์ ปี 1969’ ถือเป็นส่วนสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ถึงจะเริ่มต้นจากความรุนแรงแต่คนทั่วไปให้ความสนใจชาวเกย์มากขึ้น ส่งให้การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมขององค์กรเกย์ (Gay Liberation Front-GLF) ปี 1970 เริ่มต้นขึ้นวันเดียวกับเหตุการณ์สโตนวอลล์ หญิงสาวสองคนในขบวนตัดสินใจจับมือกันเดินถือป้าย ทั้งที่พวกเขาถูกห้ามไม่ให้จับมือในที่สาธารณะ คล้ายกับว่าเหตุการณ์คืนนั้นมอบความกล้าให้ชาว LGBTQ+ อย่างไรก็ตาม แม้เกย์จะถูกจัดเป็นคนชายขอบที่สังคมแกล้งมองไม่เห็น แต่เกย์ด้วยกันก็ยังแบ่งแยกชนชั้น จัดหมวดหมู่ ไม่ต่างจากสังคมที่ต้อนให้คนรักเพศเดียวกันหรือคนผิวดำเป็นพวกน่ารังเกียจ ในปี 1973 มาร์ชากับเพื่อน ๆ ถูกห้ามเข้าร่วมเดินขบวน โดยให้เหตุผลว่าการแต่งกายกับบุคลิกของพวกแดรกไม่เหมาะสม อาจทำให้ภาพลักษณ์ของกลุ่มเกย์ดูแย่ในสายตาคนทั่วไป เธอจึงตอบรับคำปฏิเสธนั้นด้วยการเดินอยู่หน้าสุดของขบวน มาร์ชากับซิลเวีย ริเวร่า ตัดสินใจนำเงินเก็บจากการขายบริการมาก่อตั้งองค์กรสตาร์ เรียกร้องความเท่าเทียมให้กับเกย์โดยไม่แบ่งแยกว่าคุณจะเป็นเกย์แบบไหน เป็นเกย์รุก เลสเบี้ยน หรือเป็นทรานส์ ยินดีช่วยเหลือทุกคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ
“มาร์ชา พี. จอห์นสัน คือ โรซา ปาร์กส์ แห่งขบวนเคลื่อนไหวของกลุ่มหลากหลายทางเพศ”
มาร์ชาเดินหน้าเพื่อสิทธิของพี่น้องชาวเกย์อย่างไม่หยุดยั้ง ไม่สนใจเสียงด่าทอเพราะเป็นคนผิวดำแถมยังเป็นทรานส์ พยายามบอกกับสังคมโลกว่าทุกคนเท่ากัน ตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดคนกลุ่มหนึ่งถึงผลักไสคนอีกกลุ่มให้กลายเป็นพวกชายขอบเพียงเพราะพวกเขาแตกต่าง ทำไมผู้ชายแต่งกายด้วยชุดของสุภาพสตรีไม่ได้ ทำไมผู้หญิงที่นำกางเกงของสุภาพบุรุษมาสวมต้องโดนจับ ทำไมความรักของคนเพศเดียวกันที่ไม่ได้ต่างจากความรักของชายหญิงถึงทำให้พวกเขากลายเป็นตัวประหลาด การเรียกร้องสิทธิของมาร์ชามักมาพร้อมกับเซนส์แฟชั่นหาตัวจับยาก การแต่งตัวของเธอโดดเด่น จัดจ้าน เต็มไปด้วยเสน่ห์ มาร์ชามักสวมรองเท้าส้นสูง ใส่วิก สวมมงกุฎดอกไม้เข้ากับเดรสเดินขบวนเป็นประจำ จนกระทั่งปี 1980 เธอถูกเชิญให้นั่งรถนำขบวนพาเหรดประจำปีของนิวยอร์ก เมื่อเดินขบวนเสร็จก็กลับไปทำงานในมูลนิธิสตาร์ ช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ติดเชื้อเอชไอวีและเกย์ไร้บ้าน เรื่องราวใกล้เดินทางมาถึงจุดจบ ในค่ำคืนเงียบสงบซ่อนบางสิ่งแสนน่าเศร้าเอาไว้ เช้าวันที่ 4 กรกฎาคม 1992 มีคนพบร่างของมาร์ชาในแม่น้ำฮัดสัน จากไปด้วยวัยเพียง 46 ปี การเสียชีวิตของมาร์ชา พี. จอห์นสัน สร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่กลุ่มทรานส์และเกย์ทั้งนิวยอร์ก เธอคือคนสำคัญที่ช่วยเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม เป็นกระบอกเสียงที่มีค่าของสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ ผู้คนต้องการทราบสาเหตุการเสียชีวิตและพูดถึงบาดแผลขนาดใหญ่บริเวณด้านหลังศีรษะ แต่ตำรวจกลับลงความเห็นว่ามาร์ชาฆ่าตัวตาย ค้านสายตาส่วนใหญ่ที่รู้ว่ามีคนบางกลุ่มพยายามต่อต้านการเรียกร้องสิทธิที่เธอทำมาตลอดชีวิต และเพื่อน ๆ ของเธอเชื่อว่าการจากไปของมาร์ชาไม่ได้เกิดขึ้นจากการฆ่าตัวตายแต่เป็นคดีอาชญากรรม คนใกล้ชิดของมาร์ชาให้การว่า พวกเขานัดเจอกันตอนเที่ยงคืนแต่เธอไม่มาตามนัด ประกอบกับมีคนเห็นเหตุการณ์กลุ่มอันธพาลกำลังสู้กับใครสักคนอยู่ตรงข้างถนน และได้ยินว่ามีสมาชิกแก๊งโอ้อวดกับเพื่อนว่าตัวเองเพิ่งฆ่าผู้ชายแต่งหญิงตาย อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องกลับส่งไม่ถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงเพราะเธอเป็นคนดำแถมยังเป็นสาวข้ามเพศ ในช่วงเวลากว่า 28 ปี หลังปิดคดี เกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อให้ตำรวจสืบคดีใหม่หลายครั้ง แต่การเรียกร้องก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง การเสียชีวิตที่เต็มไปด้วยคำถาม ถูกเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) นำไปสร้างเป็นสารคดีชื่อ ชีวิตและความตายของมาร์ชา พี. จอห์นสัน (The Death and Life of Marsha P. Johnson) เพื่อตั้งคำถามกับคดีเมื่อปี 1992 อันน่ากังขา วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2020 แอนดรูวด์ คูโอโม (Andrew Cuomo) ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กประกาศเปลี่ยนชื่อสวนสาธารณะย่านบรูคลินจาก สวนอีสต์ริเวอร์สเตทปาร์ค (East River State Park) เป็น สวนมาร์ชา พี. จอห์นสัน ยกย่องเธอว่าเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน โดยกล่าวทิ้งท้ายว่ารัฐควรเพิ่มบทบาทต้านความเกลียดชังในสังคมต่อคนข้ามเพศ เขาอยากเห็นนิวยอร์กเป็นเมืองหลวงแห่งความก้าวหน้าของสหรัฐฯ เรื่องราวและชื่อเสียงจากการต่อสู้เพื่อชาว LGBTQ+ คงอยู่ตลอดกาล คนรุ่นหลังได้ร่วมกันก่อตั้งองค์กรมาร์ชา พี. จอห์นสัน เพื่อสนับสนุนเพศทางเลือก เกิดการเดินขบวนที่เรียกว่าไพรด์ (LGBTQ+ Pride Parade) เป็นประจำทุกปี เสียงของกลุ่มที่ถูกเรียกว่าคนชายขอบเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ ควบคู่กับข่าวการใช้ความรุนแรงของตำรวจที่ไม่เคยหายไปจากสังคมอเมริกา แม้เวลาล่วงเลยมาหลายสิบปีตั้งแต่เหตุการณ์ลุกฮือที่สโตนวอลล์ ปี 1969 ชาวผิวดำและคนข้ามเพศยังต้องพบเจอกับความเจ็บปวดจากการแบ่งแยก แต่พวกเขาจะไม่ยอมแพ้ ยังลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพึงมี และมาร์ชาได้กลายเป็นตำนานที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่สังคม
เราจะไม่ดื่มฉลองจนกว่าเกย์ทุกคนจะได้รับสิทธิที่เป็นธรรม”
- มาร์ชา พี. จอห์นสัน
ที่มา https://www.nytimes.com/2019/05/29/arts/transgender-monument-stonewall.html https://www.nytimes.com/interactive/2018/obituaries/overlooked-marsha-p-johnson.html https://edition.cnn.com/2019/06/26/us/marsha-p-johnson-biography/index.html https://time.com/5793632/marsha-p-johnson-100-women-of-the-year/ https://parks.ny.gov/parks/155/details.aspx เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์