บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: เสียงเพลงและกัญชา

บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: เสียงเพลงและกัญชา

บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: เสียงเพลงและกัญชา

ภาพลักษณ์ของ บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday 1915-1959) มิได้เป็นเพียงตำนานของนักร้องแจ๊สหญิงแถวหน้าเท่านั้น หากเรื่องราวในชีวิตเธอยังเปี่ยมล้นด้วยสีสันมากเกินกว่าชีวิตมนุษย์ธรรมดาจะก้าวไปสัมผัสถึง เบื้องหน้าความสำเร็จของเธอนั้นปรากฏร่องรอยของโศกนาฏกรรมที่แฝงด้วยความสลับซับซ้อน อีกทั้งยังปกคลุมด้วยความมืดดำเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ หลายเรื่องยังเป็นความเข้าใจผิด เกินกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ข้อเท็จจริง” ดังปรากฏในภาพยนตร์ (และละครเพลง) เรื่อง Lady Sings the Blues นำแสดงโดย ไดอานา รอสส์ (Diana Ross) ทั้งที่สร้างขึ้นจากหนังสืออัตชีวประวัติของ บิลลี ฮอลิเดย์ ภายใต้ชื่อเดียวกัน ทว่า ด้วยคำบอกเล่าจากปากของบิลลี ต่อ วิลเลียม ดัฟตี (William Dufty) ผู้ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวลงในหนังสือเล่มนี้ ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ บิลลี โดยตรง ยังเห็นว่าต้องอาศัยการตีความเป็นพิเศษ มากกว่าแค่การอ่านเอาเรื่องธรรมดา นอกเหนือไปจากเรื่องราวชีวิตที่มีสีสันล้นทะลักอย่างน่าตระหนก บิลลี ฮอลิเดย์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นนักร้องแจ๊สสมบูรณ์แบบที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพลงที่เธอร้อง... อาจจะมีเพลงที่เธอแต่งเองแทบนับจำนวนได้ และเกือบทั้งหมดเป็นเพลงในกลุ่มสแตนดาร์ด แต่ด้วยแนวทางการร้องของเธอ บิลลี ทำให้ทุก ๆ เพลงที่เธอถ่ายทอดออกมา กลายเป็นเพลงส่วนตัวของเธอได้อย่างน่าอัศจรรย์ สิ่งที่ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ คือผลงานการบันทึกเสียงของเธอ ซึ่งร้องไว้ราว ๆ 300 เพลง (มีการจัดแบ่งยุคสมัยการทำงานออกเป็น 3 ยุค) ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 44 ปีที่เธอมีชีวิตอยู่บนโลก โดยที่ไม่เคยเรียนรู้ดนตรีอย่างเป็นระบบแม้แต่น้อย แต่เธอได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการร้องเพลงแจ๊สมิให้ดำเนินเหมือนเดิมอีกต่อไป   ฮาร์เล็ม เสียงเพลง และกัญชา เดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1929 เมื่อทางการปล่อยตัว เอลินอรา ฟาแกน เป็นอิสระ เธอและแม่ก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่ย่านบรู้คลีนของเมืองนิวยอร์ก ซึ่งห่างจากย่านฮาร์เล็ม ศูนย์กลางความบันเทิงและดนตรีแจ๊ส ไม่มากนัก เพียงนั่งรถไฟใต้ดินลอดใต้อุโมงค์เพื่อข้ามฝั่งไปด้วยราคาไม่กี่เซนต์เท่านั้น บิลลี เริ่มต้นงานร้องเพลงอย่างจริงจังในเวลานี้ โดยมี เคนเนธ ฮอลลอน (Kenneth Hollon) นักเทเนอร์แซ็กโซโฟนวัย 20 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกันทำหน้าที่แบ็คอัพ ในช่วงนี้เองที่ บิลลี เริ่มใช้ชื่อในวงการว่า “บิลลี ฮอลิเดย์” เคนเนธ เคยให้สัมภาษณ์ สจ๊วร์ท นิโคลสัน ถึงความทรงจำตอนพบแม่ลูกคู่นี้ครั้งแรกว่า“พวกหล่อนอธิบายว่าเพิ่งย้ายมาจากบัลติมอร์...” ซาดี ฟาแกน เริ่มต้นชีวิตที่บรู้คลีนด้วยการรับจ้างทำงานบ้าน ส่วนลูกสาวของเธอ ซึ่งประกาศว่า “ไม่มีวันถูพื้นหรือทำความสะอาดให้คนขาวเด็ดขาด” ยืนกรานที่จะเอาดีกับการร้องเพลงเท่านั้น เมื่อ เคนเนธ ซ้อมแซ็กโซโฟน บิลลี จะแวะเวียนมาร้องคลอตามไปด้วย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างเสียงร้องของเธอ กับแซ็กโซโฟน และนักแซ็กโซโฟนหลายคนในเวลาต่อมา “ผมเป็นคนพาเธอไปรับงานร้องเพลงครั้งแรกในเมืองนี้ ในช่วงปี ค.ศ. 1930 หรือ 1931” เคนเนธ กล่าวพร้อมย้อนความทรงจำว่า ในครั้งนั้น บิลลี ร้องเพลง Oh, How Am I to Know ?, Honeysuckle Rose และ My Fate is in Your Hands ของ แฟทส์ วอลเลอร์ (Fats Waller) กับวงดนตรีของ แฮท ฮันเตอร์ (Hat Hunter) ที่มี เคนเนธ ฮอลลอน เป็นสมาชิก ณ บาร์คาบาเรต์เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ชื่อ “เกรย์ ดอว์น” ใน “จาไมกา แอฟเวอนู” ของย่านควีนส์ ซึ่งที่นั่น แขกในร้านจะใช้วิธีโยนเงินค่าทิปลงบนพื้นให้แก่นักร้อง “...คืนนั้น เธอเก็บเงินค่าทิปได้กว่า 100 เหรียญเชียวนะ” เคนเนธ กล่าว ความสำเร็จจากค่ำคืนนั้น ส่งผลให้ บิลลี ฮอลิเดย์ และ เคนเนธ ฮอลลอน ตกลงปลงใจเล่นดนตรีตามย่านบรู้คลีนและควีนส์ด้วยกันเป็นเวลาราว ๆ 2 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1930-1932 ช่วงฤดูใบไม้ผลของปี ค.ศ. 1930 ซาดี ได้งานเป็นแม่ครัวที่บาร์ชื่อ “เม็กซิโก” ในย่านฮาร์เล็ม ทั้งคู่จึงย้ายกลับมาอยู่ในย่านนี้อีกครั้ง บรรยากาศเฉพาะตัวของเมืองดนตรีแห่งนี้ อาจสะท้อนได้จากเมื่อคราวที่ ดุ๊ก เอลลิงตัน (Duke Ellington) เดินทางมาเยือน ฮาร์เล็ม เป็นครั้งแรก เขาแสดงความประทับใจที่มีต่อฮาร์เล็มว่า “สถานที่ที่มีเสน่ห์ที่สุดของโลก ทำไมน่ะรึ มันคล้ายกับค่ำคืนหนึ่งในอาระเบียเลยทีเดียว” เดิมทีนั้น ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ฮาร์เล็มเป็นชุมชนเฉพาะของชนชั้นกลางผิวขาวที่มั่งคั่ง หลังจากนั้น เมื่อมีการก่อสร้างการขนส่งระบบรางขึ้นไปทางตอนเหนือสุดของเกาะแมนฮัตตัน ซึ่งเชื่อมต่อกับเขตธุรกิจใจกลางเมือง ได้มีนักเก็งกำไรลงทุนสร้างตึกรามสูงใหญ่สำหรับเป็นที่พักอาศัย แต่เมื่ออุปทานของตึกมีมากจนเกินล้นความต้องการ แนวคิดเหยียดสีผิวก็ไม่อาจต้านทานความต้องการรายได้ ทำให้มีการปล่อยเช่าแก่คนผิวสีอย่างแพร่หลาย จนในที่สุด ช่วงทศวรรษ 1920s ฮาร์เล็ม ก็ได้กลายเป็นชุมชนคนดำที่ใหญ่ที่สุดบนพื้นพิภพไปเสียแล้ว ........................... “เม็กซิโก” ในฮาร์เล็ม เป็นเพียงบาร์เล็ก ๆ ที่ตั้งชื่อตามฉายาของเจ้าของร้าน ซึ่งมีชื่อจริงว่า โกเมซ (Gomez) เขาเป็นคนจากเซาธ์แคโรไลนา ส่วนฉายาของเขาได้รับจากการทำหน้าที่เป็นพลปืนกลให้แก่ นายพลฟันสตัน (General Funston) ในสงครามระหว่างทางการสหรัฐ กับกองกำลังของ ปานโช วิลลา (Pancho Villa) นักปฏิวัติคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เม็กซิโก ที่ “เม็กซิโก” ระหว่างรอซาดีปรุงอาหารอยู่ในครัว บิลลีจะคอยเป็นลูกมือ พร้อม ๆ กับช่วยเสิร์ฟอาหารไปด้วย จากนั้นเธอฝึกร้องเพลงระหว่างยืนรับออร์เดอร์ตามโต๊ะเพื่อรับเงินค่าทิป จากโต๊ะหนึ่งไปยังอีกโต๊ะหนึ่ง ในสภาพไม่ต่างจาก “นักไวโอลินยิปซีในคาเฟ่ของเมืองบูดาเปสต์” เท่าใดนัก ด้วยวิธีการเช่นนี้เอง ทำให้เธอปรับแต่งเสียงร้องให้มีความหลากหลายและแตกต่าง ซึ่งเป็นสารัตถะในศิลปะการร้องแบบแจ๊ส และนอกจากที่ "เม็กซิโก" แล้ว บิลลี ยังออกไปหางานร้องเพลงในช่วง “อาฟเตอร์ อาวร์ส” ที่บาร์แห่งอื่น ๆ เช่น เอ็ด สมอลล์’ส พาราไดส์, เดอะ ไบรท์ สปอต และ เดอะ อัลฮัมบรา บาร์ แอนด์ กริลล์ เบนนี คาร์เตอร์ (Benny Carter) นักอัลโตแซ็กโซโฟน เป็นคนหนึ่งที่ได้ยินเสียงร้องในยุคเริ่มแรกของ บิลลี ช่วงปี ค.ศ. 1930-31 “ที่ไบรท์ สปอต ... คลับเล็ก ๆ เธออยู่ที่นั่นพร้อมกับนักเปียโนที่ทำหน้าที่เล่นคลอ เธอร้องไม่เหมือนนักร้องบลูส์ทั่วไป อย่าง แมมี สมิธ หรือใครก็ตาม ทั้งหมดที่ผมพูดได้ก็คือ เธอแตกต่างอย่างชัดเจนจากนักร้องคนอื่น ๆ ...” เบนนี กล่าว ระหว่างที่ บิลลี ฮอลิเดย์ เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักดนตรีย่านฮาร์เล็ม เธอได้เรียนรู้ชีวิตยามค่ำคืนของศูนย์กลางดนตรีแห่งนี้ไปพร้อม ๆ กัน ในเวลานั้น “กัญชา” กำลังเป็นโอสถที่ได้รับความนิยมในการเสพของนักดนตรีผิวดำ ด้วยสนนราคาที่ไม่แพงเกินนัก เพียง 25 เซนต์สำหรับบุหรี่ยัดไส้กัญชา 2 มวน อาจจะกล่าวได้ว่า บิลลี ฮอลิเดย์ ทดลองเสพตั้งแต่ไม่กี่สัปดาห์แรกที่เริ่มต้นทำงานยังบาร์เม็กซิโกด้วยซ้ำ ในยุคนั้นมีคำศัพท์สแลงที่ใช้เรียกแทนกัญชาอยู่หลายคำด้วยกัน  อาทิ reefer, weed, muggles, tea, gauge หรือ grass พร้อมกับมีศัพท์เรียกนักเสพกัญชาว่า ไวเปอร์ (viper) ไม่เพียงเท่านั้นยังมีบทเพลงที่สะท้อนถึง “วัฒนธรรมกัญชา” ผ่านการบรรเลงของวงดนตรีแจ๊สหลายเพลงด้วยกัน เช่น บทเพลงที่ หลุยส์ อาร์มสตรอง หนึ่งในผู้หลงกลิ่นกัญชาเคยบันทึกเสียงไว้ อย่าง Muggles เมื่อปี ค.ศ. 1928 หรือ Song of the Vipers ปี ค.ศ. 1934 นอกจากนี้ ยังมีเพลง Viper’s Drag ของ แฟทส์ วอลเลอร์, Chant of the Weed ของ ดอน เรดแมน, Texas Tea Party ของ เบนนี กูดแมน, Viper’s Dream ของ ชาร์ลี จอห์นสัน โดยในจำนวนนี้ มีเพลง Reefer Man ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก ถึงขนาดมีนักดนตรีนำมาบันทึกเสียงกันหลายเวอร์ชันเลยทีเดียว บิลลี ฮอลิเดย์ พึงพอใจที่จะเข้าร่วมวงสังสรรค์กับนักดนตรีทุกครั้งที่มีโอกาส เธอสูบกัญชาจากหม้อสูบ (smoking pot) ขณะเดียวกัน แต่ละค่ำคืนของเธอก็ผ่านไปพร้อมกับบทเรียนทางดนตรีอันล้ำค่า เธอฟังอย่างหนัก วิเคราะห์ว่านักดนตรีเหล่านี้บรรเลงด้วยชีพจรสวิงกันอย่างไร วิธีการอิมโพรไวเซชั่นไปบนทางเดินคอร์ด เธอเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยหูของเธอ แล้วจึงค่อย ๆ พัฒนาอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาทีละน้อย. [caption id="attachment_13139" align="aligncenter" width="1200"] บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: เสียงเพลงและกัญชา บิลลี ฮอลิเดย์ และ หลุยส์ อาร์มสตรอง (ซ้าย) ศิลปินคนโปรดของเธอ[/caption]

พบกับ จอห์น แฮมมอนด์

คืนหนึ่งในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1932 ขณะที่วงดนตรีของ เบนนี คาร์เตอร์ กำลังบรรเลงอยู่ที่ “คอนนี’ ส อินน์” ในช่วงเวลายามดึกที่เปิดให้แก่การแจมดนตรีนั้น บิลลี ฮอลิเดย์ ได้แวะมาที่คลับดังกล่าว ลอเรนซ์ ลูซี (Lawrence Lucie) มือกีตาร์ที่ร่วมแจมอยู่ในวงเวลานั้น ย้อนความทรงจำว่า “พวกเราไม่มีใครรู้จักเธอแม้แต่น้อย ... เธอน่าจะไปร้องเพลงที่ไหนสักที่ เสร็จแล้วแวะมาตอนดึก และเธอก็ขึ้นมาร้องเพลงกับวง ทุกคนยอมรับว่าเธอยิ่งใหญ่ เราไม่เคยได้ยินเธอร้องมาก่อน จนเมื่อเราลงไปหลังเวที จึงได้ยินผู้คนพูดว่า ‘นั่นคือบิลลี ฮอลิเดย์’ พวกเราไม่เคยได้ยินการร้องเพลงแบบนั้น ฟีลลิ่งแจ๊สที่เป็นธรรมชาติ ตอนนั้นเธอพัฒนาเป็นนักร้องเต็มตัวแล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นมีคุณสมบัติเป็นดาวเด่นเหมือนที่เป็นในอีกไม่กี่ปีต่อมา พวกเราทุกคนในวงต่างรู้สึกอัศจรรย์ใจ”  ในฐานะนักกีตาร์ ลอเรนซ์ รู้จักกับพ่อของบิลลี ฮอลิเดย์ เป็นอย่างดี ช่วงนั้น แคลเรนซ์ ฮอลิเดย์ กำลังโด่งดังจากการเป็นมือกีตาร์และมือแบนโจ ในวงของ เฟล็ทเชอร์ เฮนเดอร์สัน (Fletcher Henderson) วงดนตรีชั้นนำของวงการ โดยแทนที่ ชาร์ลส์ ดิกซัน (Charles Dixon) “มันเป็นเรื่องแปลกที่ผมไม่เคยได้ยิน แคลเรนซ์ พูดถึงลูกสาวของเขาแม้แต่ครั้งเดียว เขาพูดถึงกีตาร์, ดนตรี และสิ่งต่าง ๆ แต่ไม่เคยพูดถึง บิลลี สักครั้ง ... ต่อมาผมเจอทั้งคู่อยู่ด้วยกันที่ เดอะ ริธึ่ม คลับ ในช่วงที่บิลลีเพิ่งมาถึง เธอชอบอยู่ในแวดวงของนักดนตรี เธอจะนั่งลงและพูดคุยกับพวกเรา” ความสัมพันธ์ระหว่าง บิลลี กับพ่อของเธอ ไม่ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกันนัก ในปี ค.ศ. 1932 แคลเรนซ์ เพิ่งอายุ 34 ปี เป็นคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จ มีบุคลิกภาพดี หน้าตาหล่อเหลาเอาการ และแน่นอนว่าย่อมมีแฟนเพลงที่ติดตามเป็นหญิงสาวจำนวนไม่น้อย ดังนั้น เขาย่อมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเป็นธรรมดา เมื่อต้องพบกับหญิงสาวอีกคนหนึ่งที่ออกมาอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา ซึ่งไม่ต่างจากอดีตที่กลับมาคอยหลอกหลอนเท่าใดนัก ช่วงปลายปี ค.ศ. 1932 บิลลี ได้งานร้องเป็นวงเปิดที่คลับเล็ก ๆ ชื่อ “โคแวน’ส” บนถนนสายที่ 132 ตะวันตกของนิวยอร์ก ซิตี แบ็คอัพโดยนักเปียโน นาม ด็อท ฮิลล์ (Dot Hill) เธอมาร้องแทนที่ โมเน็ทท์ มัวร์ (Monette Moore) นักร้องประจำคลับคนเดิม ซึ่งได้งานใหม่เป็นโชว์ของละครบรอดเวย์เรื่องหนึ่ง “โมเน็ทท์ มัวร์ มีชื่อเสียงโด่งดังมาก” นักเปียโน โรเจอร์ ‘แรม’ รามิเรซ (Roger ‘Ram’ Ramirez) ย้อนอดีตให้ฟัง “ผมไม่รู้มาก่อนว่าเธอดังแค่ไหน จนกระทั่งชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ จอห์น แฮมมอนด์ จาก (มหาวิทยาลัย) เยล มานั่งฟังเธอร้องเพลง ดูท่าทางเขากระตือรือร้นเอามาก ๆ” ขณะเดียวกัน รามิเรซ ยังได้พูดถึง บิลลี ฮอลิเดย์ ว่า เขาเห็นเธอเป็นครั้งแรกที่ โคแวน’ส และรู้สึกชื่นชมในความมีชีวิตชีวา สดใส ปานประหนึ่งแสงอาทิตย์ เธอเดินร้องเพลงจากโต๊ะหนึ่งไปยังอีกโต๊ะหนึ่ง พร้อมกับเอ่ยคำทักทายแขกที่มาเยือน ระหว่างนั้น จอห์น แฮมมอนด์ (John Hammond) ตัดสินใจทิ้งการเรียนที่มหาวิทยาลัยเยล และทำงานเป็นนักเขียนให้แก่ เมโลดี เมคเกอร์ (Melody Maker) นิตยสารดนตรีระดับแนวหน้าของอังกฤษ พร้อม ๆ กับขยับขยายเป็นแมวมองและโปรดิวเซอร์ในแวดวงดนตรี โดยส่วนตัว แฮมมอนด์ ชื่นชม โมเน็ทท์ มัวร์ และ การ์แลนด์ วิลสัน นักเปียโนที่แบ็คอัพเธออยู่มาก ทว่า วันหนึ่ง เมื่อเดินทางมาถึง โคแวน’ส เขากลับพบกับนักร้องอีกคนหนึ่งซึ่งไม่รู้จักมาก่อน แต่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่รสนิยมทางดนตรีและชีวิตของเขาอย่างใหญ่หลวง เขาตระหนักว่าตนเองกำลังได้ฟังบางสิ่งบางอย่างที่มีเอกภาพในสุ้มเสียงดนตรีร่วมสมัยในเวลานั้น “วิธีการที่เธอร้องไปบนท่วงทำนอง สัมผัสของฮาร์มอนีอันแปลกประหลาด และการเข้าถึงความหมายของคำร้อง เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่าถ่ายทอดโดยหญิงสาวอายุเพียง 17 ปี” แฮมมอนด์ กล่าวย้อนหลัง อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันความรู้สึกอันลึกซึ้งและถั่งท้นของเขา แฮมมอนด์ไม่รอช้าที่จะชักชวนเพื่อนสนิท 2 คนมาร่วมสังเกตการณ์ นั่นคือ เรด นอร์โว (Red Norvo) นักไซโลโฟน (เปลี่ยนมาเล่นไวบราโฟน ในเวลาต่อมา) และภรรยาของเขา ไมล์เดรด เบลีย์ (Mildred Bailey) นักร้องสาว เจ้าของฉายา The Rocking Chair Lady ซึ่งร้องประจำอยู่ในวงดนตรีของ พอล ไวท์แมน ที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น “จอห์น แฮมมอนด์, ไมล์เดรด, ตัวผม และเพื่อนอีก 3 คน แวะเวียนไปตามคลับต่าง ๆ” เรด นอร์โว เริ่มต้นความหลังให้ฟัง “จากนั้น เราไปที่คลับเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งจอห์นบอกว่า ลูกสาวของอดีตมือกีตาร์ในวงของ เฟล็ทเชอร์ เฮนเดอร์สัน กำลังร้องอยู่ที่นี่ เมื่อเราก้าวเข้าไปในคลับ และเธอเริ่มร้อง ไมล์เดรด ก็หันมาหาจอห์นกับผม และพูดขึ้นว่า ‘เด็กคนนี้ร้องเพลงได้แน่ ๆ’ จากนั้นจอห์นก็แวะไปคุยกับเธอเมื่อเสร็จงาน นั่นคือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ เขาให้ความเชื่อถือต่อการประเมินค่าของ ไมล์เดรด” จอห์น แฮมมอนด์ กลายเป็นตัวแทนประชาสัมพันธ์ของ บิลลี ฮอลิเดย์ อย่างไม่เป็นทางการโดยทันที เขาเขียนถึงเธอในนิตยสาร เมโลดี เมคเกอร์ ฉบับเดือนเมษายน ค.ศ. 1933 ว่า “.... (เธอ) ร้องได้ดีเหมือนกับคนอื่น ๆ ที่ผมได้เคยฟังมา น่าจะมีข้อตกลงบางสิ่งบางอย่างกับเธอ เพื่อผลิตเป็นแผ่นเสียงขึ้นมา” ไม่เพียงเท่านั้น เขายังขยันพาเพื่อนนักดนตรีไปชมการแสดงของเธออีกด้วย น่าเสียดายว่าในเวลานั้นยังไม่มีสังกัดแผ่นเสียงรายใดที่สนใจเซ็นสัญญากับนักร้องที่มีความสามารถ แต่ยังไม่มีชื่อเสียงอย่าง บิลลี ฮอลิเดย์ ปัจจัยหนึ่งมาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐอเมริกาช่วงต้นทศวรรษ 1930s ยอดขายแผ่นเสียงของบริษัทต่าง ๆ ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 6 ส่วนเท่านั้น (เมื่อเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 1927) ขณะที่สถานการณ์ด้านการเงินของ “อเมริกัน โคลัมเบีย” กำลังย่ำแย่ ในสายตาของ แฮมมอนด์ หนทางเท่าที่เหลืออยู่ในเวลานั้น คือการชักชวนให้ “อิงลิช โคลัมเบีย” บริษัทแผ่นเสียงของอังกฤษที่เข้ามาทำตลาดในสหรัฐสนใจลงทุนในการณ์นี้ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1933 จอห์น แฮมมอนด์ เดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกลับมาสหรัฐอเมริกา ด้วยคำรับรองจาก “อิงลิช โคลัมเบีย” ว่าจะได้ผลิตแผ่นเสียง 8 หน้า (ยุคนั้นยังไม่มีแผ่นลองเพลย์) เพื่อบันทึกผลงานของวง เบนนี คาร์เตอร์ ออร์เคสตรา, แผ่นเสียงอีก 8 หน้าสำหรับวง เฟล็ทเชอร์ เฮนเดอร์สัน, แผ่นเสียง 6 หน้าสำหรับวงของ โจ เวนูติ (Joe Venuti) และแผ่นเสียง 4 หน้าสำหรับวงที่นำโดย เบนนี กูดแมน (Benny Goodman) ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน จอห์น แฮมมอนด์ ควบคุมการผลิตงานบันทึกเสียงเหล่านี้ โดยอาศัยนักดนตรีระดับกะทิของวงการแจ๊สตามที่กล่าวมา ทว่า ผลงานที่ทำกับ เบนนี กูดแมน แม้จะไม่ได้เป็นไปตามแผน แต่ได้รับการตอบสนองอย่างดียิ่ง โดยนิตยสาร “เมโทรโนม” ยกย่องแผ่นที่อัดเพลง Ain’t-cha Glad ? และ I Got a Right to Sing the Blues ว่าเป็น “ผลงานยอดเยี่ยมแห่งเดือน” ผลกระทบด้านบวกจาก Ain’t-cha Glad ? คือการที่ เบน เซลวิน (Ben Selvin) ผู้บริหารค่ายเพลงตัดสินใจให้ แฮนมอนด์ บันทึกเสียง เบนนี กูดแมน เพิ่มเติมอีกครั้ง โดยในคราวนี้ทำขึ้นภายใต้สังกัด “อเมริกัน โคลัมเบีย” บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: เสียงเพลงและกัญชา

ฉายแววนักร้อง

ความสำเร็จของแผ่นเสียงเพลง Ain’t-cha Glad ? คือกุญแจสู่อาชีพของทั้ง จอห์น แฮมมอนด์ และ เบนนี กูดแมน สำหรับ เบนนี กูดแมน นี่คือแรงสนับสนุนให้เขากลับเข้าสู่ดนตรีแจ๊สอีกครั้ง หลังจากหันเหไปทำดนตรีตอบสนองแนวตลาดมานานหลายปี ส่วน แฮมมอนด์ นี่คือการเปิดโอกาสให้เขาได้ผลิตงานบันทึกเสียงสำหรับสังกัดแผ่นเสียงอเมริกันอย่างเต็มตัว พวกเขานัดหมายบันทึกเสียงกันอีกในวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1933 โดยกำหนดนักดนตรีชุดเดียวกันกับที่เคยเล่นอัดแผ่น Ain’t-cha Glad ? ซึ่งในครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงนักทรัมเป็ตคนเดียวเท่านั้น โดยมี เชอร์ลีย์ เคลย์ (Shirley Clay) มาแทนที่ แมนนี ไคลน์ (Mannie Klien) ระหว่างนั้น แฮมมอนด์ และ กูดแมน แวะไปชมการร้องของ บิลลี ฮอลิเดย์ อย่างสม่ำเสมอ การพบกันระหว่าง บิลลี กับ กูดแมน พัฒนาความสัมพันธ์ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูเหมือนว่านักคลาริเน็ตผิวขาวต้องการชักชวนบิลลีให้ไปร้องเพลงออกอากาศทางวิทยุหรือบันทึกเสียงร่วมกับวงดนตรีของเขา แต่ก็ยังติดขัดในเรื่องการทำงานที่มีความแตกต่างทางสีผิว ซึ่งทำให้เป็นไปได้ยาก ในเวลาเดียวกัน บิลลี ก็ยังไม่คุ้นเคยกับงานบันทึกเสียงมากนัก เธอค่อนข้างจะเต็มไปด้วยความวิตกกังวลด้วยซ้ำ เพราะเป็นบทบาทที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร้องผ่านไมโครโฟนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน“ฉันบอกว่า ทำไมต้องร้องแบบนั้นด้วย ทำไมจะร้องแบบที่ฉันร้องในคลับไม่ได้ ฉันกลัวแทบตาย” บิลลี เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ตัวอย่างที่เป็นปัญหา สะท้อนได้จากการร้องอัดเสียงเพลงแรกของเธอ ในเพลง Your Mother’s Son-in-Law ไม่เพียงเป็นคีย์ที่เธอไม่ถนัดเท่านั้น หาก กูดแมน ยังต้องการจังหวะที่โปร่งเบากว่าที่เธอคุ้นเคยอีกด้วย มีการซักซ้อมตลอดทั้งเพลงหลายหน และเธอต้องร้องถึง 3 เทคกว่าจะผ่านไปได้ อย่างไรก็ตาม การร้องของ บิลลี ฮอลิเดย์ ในเพลงนี้ “ดีกว่า” ที่คาดคิดไว้มาก เธอสามารถผสานความรู้สึกที่มีต่อเพลงได้เป็นอย่างดี สุ้มเสียงดูใส ๆ และเคลื่อนไหวในย่านความถี่สูง ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเธอร้องแทบจะถึงตัวโน้ตสูงสุดเท่าที่เสียงร้องของเธอให้ได้เลยทีเดียว นอกจากนี้เธอยังผสานอิทธิพลของ เบสซี สมิธ ไว้ค่อนข้างมากในเพลงนี้ ในสัปดาห์ถัดมา บิลลี และ วงดนตรีของ กูดแมน กลับมาที่สตูดิโออีกครั้ง โดยมี ดิก แมคโดนัลด์ (Dick McDonald) นักกีตาร์ที่มาพร้อมกับเพลงแต่งใหม่ชื่อว่า Riffin’ the Scoth ซึ่งตั้งใจแต่งให้แก่ บิลลี ฮอลิเดย์ โดยเฉพาะ ทว่าเนื่องจากเนื้อร้องของเพลงนี้ยังไม่ลงตัวนัก จึงมี จอห์นนี เมอร์เซอร์ นักแต่งคำร้องระดับแนวหน้ามาดูแลอีกแรงหนึ่ง นอกจากเพลงนี้แล้ว เซสชั่นของวันที่ 4 ธันวาคม ยังมีเพลง Keep on Doin’ What You’re Doin’ ซึ่งมี แจ็ค ทีการ์เดน (Jack Teagarden) ร่วมร้องด้วย แต่เพลงนี้ก็มีข้อผิดพลาดบางประการทำให้ถูกคัดออกไปจากการพิจารณาเพื่อตัดเป็นแผ่นเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนคีย์ที่ผิดปกติในช่วง Modulation จากคีย์ จีไมเนอร์ มาเป็นคีย์ อี ไมเนอร์ ที่เรียบเรียงโดย ดีน คินเขด (Deanre Kincaide) ซึ่ง บิลลี ตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าแปลกแปร่งชอบกล ในเซสชั่นย่อยของวันที่ 18 ธันวาคม บิลลี ฮอลิเดย์ มีส่วนในการแก้ไขข้อผิดพลาดเกี่ยวกับคีย์ของเพลงดังกล่าว ไม่เพียงเท่านั้น ในเทคที่ 2 ของเพลง Riffin’ the Scotch ยังได้มีการโซโลของทรัมเป็ตคู่ ที่บรรเลงโดย ชาร์ลี ทีการ์เดน (Charlie Teagarden) และ เชอร์ลีย์ เคลย์ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนแผ่นขนมปังที่ประกบกันเป็นแซนด์วิช บนเสียงร้องของบิลลี ฮอลิเดย์ ซึ่งเพลงนี้บ่งบอกถึงสไตล์การร้องในยุคเริ่มแรกของ บิลลี ได้ดียิ่งกว่าเพลง Your Mother’s Son-in-Law ที่เคยอัดมาก่อนหน้านั้น แม้ว่าผลงานเหล่านี้จะไม่ได้รับการเหลียวแลจากนักวิจารณ์ในช่วงเวลานั้น แต่คุณค่าของบทเพลงก็ได้พิสูจน์คุณค่าผ่านกาลเวลามาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เพียงการเรียบเรียงดนตรีที่ถือว่าล้ำหน้าสำหรับยุคปี ค.ศ. 1933 หากยังสะท้อนถึงสัมผัสแห่งดนตรีสวิงสมัยใหม่อีกด้วย ด้านการบรรเลงของวงดนตรีกลุ่มนี้ แม้จะไม่ได้พัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบ บิ๊กแบนด์ ที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาอีก 2-3 ปีให้หลัง แต่การจัดสมดุลของวง (คลาริเน็ต, 2 ทรัมเป็ต, ทรอมโบน, เทเนอร์แซ็กโซโฟน และริธึ่มเซคชั่น) และการจัดสมดุลของการบรรเลงอิมโพรไวเซชั่น นับว่าอยู่ในขั้นมาตรฐานเลยทีเดียว ด้วยเสียงร้องของ บิลลี ฮอลิเดย์ ที่ปรากฏในเพลง Your Mother’s Son-in-Law และ Riffin’ the Scotch ณ ช่วงเวลาที่เธออายุ 18 ปี อาจจะให้แง่มุมน่าสนใจเพิ่มขึ้นสำหรับผู้สนใจศึกษาเรื่องราวของเธอ หากเราย้อนกลับไปพิจารณาความสนใจครั้งแรกที่ บิลลี มีต่อดนตรีแจ๊ส นับจากได้ฟังเพลง West End Blues ผ่านแผ่นเสียงของ หลุยส์ อาร์มสตรอง ในซ่องนางโลมที่บัลติมอร์ ครั้งนั้น เธอมีอายุเพียง 13 ปี หรือราว ค.ศ. 1928 ซึ่งเป็นปีที่แผ่นเสียงชุดนี้ออกวางขายเป็นครั้งแรก ดังนั้น เมื่อตัดช่วงเวลาที่เธอขาดการเชื่อมโยงกับดนตรีแจ๊ส เพราะอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐใน ค.ศ. 1929 นั่นหมายความว่า บิลลี ใช้เวลาในการบ่มเพาะอัตลักษณ์และแนวทางสร้างสรรค์ของตนเองในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1930-1933 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่น่าจดจำไม่น้อย สำหรับนักร้องแจ๊สสักคนที่จะก้าวขึ้นมาบนถนนสายนี้ หลังจากงานบันทึกเสียงดังกล่าว บิลลี ฮอลิเดย์ ไม่ได้อัดแผ่นอีกเลยเป็นเวลา 2 ปี ในช่วงเวลาต่อจากนั้น วงดนตรีของ เบนนี กูดแมน พัฒนาตัวเองขึ้นเป็น “ออร์เคสตรา” หรือยกระดับสถานภาพเป็น “บิ๊กแบนด์” โดยสมบูรณ์ และมี มิลเดรด เบลีย์ (Mildred Bailey) เป็นนักร้องที่เข้ามาทำหน้าที่ร้องในงานบันทึกเสียง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1934 เซสชั่นครั้งนี้ กูดแมน ว่าจ้าง โคลแมน ฮอว์กินส์ (Coleman Hawkins) มือเทเนอร์แซ็กโซโฟนรุ่นบุกเบิกของวงการ ซึ่งตอนนั้นเป็นสมาชิกในวงของ เฟล็ทเชอร์ เฮนเดอร์สัน (Fletcher Henderson) มาทำหน้าที่เป็นไซด์แมนประจำวง โดยผู้มาทำหน้าที่แทน ฮอว์กินส์ ในวงของเฮนเดอร์สัน เมื่อราว ๆ วันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1934 คืออดีตนักเทเนอร์แซ็กโซโฟนของวง เคานท์ เบซี แห่งเมืองแคนซัส ซิตี นาม เลสเตอร์ ยัง (Lester Young) ในฐานะนักดนตรีต่างถิ่น เลสเตอร์ ยัง ค่อนข้างใหม่สำหรับนครนิวยอร์ก เขาอาศัยในบ้านของ เฮนเดอร์สัน และได้รับแรงกดดันพอสมควรจากภรรยาของเฮนเดอร์สัน ให้เล่นแซ็กโซโฟนในแบบฉบับของสมาชิกคนก่อนหน้า แต่ข้อเท็จจริงที่พึงรับรู้ก็คือ สมาชิกภายในวงเกือบทั้งหมดต่างเห็นว่า น่าจะรับ ชู แบร์รี (Chu Berry) เพื่อมาแทนที่ โคลแมน ฮอว์กินส์ เพราะมีสไตล์การเล่นที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเงื่อนไขที่ว่าได้สร้างความอึดอัดให้ เลสเตอร์ ยัง มากยิ่งขึ้น โดยพื้นฐาน ฮอว์กินส์ มีสไตล์การเป่าที่มีมวลแน่นหนาและอุดมด้วยพละกำลัง ขณะที่ เลสเตอร์ ยัง เน้นความโปร่งเบาและสละสลวย ฮอว์กินบรรเลงด้วยการโซโลหนัก ๆ เป็นประกายผ่านเสียงในคอร์ด (arpeggios) ขณะที่ เลสเตอร์ เลือกตรรกะของท่วงทำนองตามแบบฉบับของการเล่นแบบดั้งเดิมเป็นสำคัญ จึงมีการเปรียบเปรยกันว่าความแตกต่างของนักแซ็กโซโฟนทั้งคู่ เสมือน “ชีส” และ “ชอล์ก” อีกทั้งในหมู่นักดนตรีมักนิยมพูดคุยว่าใครคือคนที่เก่งที่สุด เมื่อเสร็จจากงาน เลสเตอร์ ยัง และนักทรัมเป็ต แจ็ค วิลสัน (Jack Wilson) สมาชิกใหม่อีกคนในวงของ เฟล็ทเชอร์ เฮนเดอร์สัน เหมือนกัน ต่างหาโอกาสไปแจมตามไนท์คลับต่าง ๆ ซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก ก่อนที่ เลสเตอร์ จะได้พบกับ บิลลี  และกลายมาเป็น “โซล เมท” ในเวลาต่อมา มาถึงบรรทัดนี้ ไม่ต้องสงสัยว่า บิลลี ฮอลิเดย์ จะตัดสินให้ใคร ระหว่าง โคลแมน ฮอว์กินส์ และ เลสเตอร์ ยัง เป็นสุดยอดนักเทเนอร์แซ็กโซโฟนแห่งยุค   บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: เสียงเพลงและกัญชา ความรักหลายแบบ ช่วงเวลาแรกพบของ เลสเตอร์ ยัง กับ บิลลี ฮอลิเดย์ นั้น นักร้องสาวได้เล่าความทรงจำไว้ในอัตชีวประวัติว่า ระหว่างนั้น เบนนี คาร์เตอร์ และ เลสเตอร์ กำลังแจมดนตรีกันในไนท์คลับแห่งหนึ่ง จากนั้นเมื่อ ชู แบร์รี เดินเข้ามา ทุกคนในสถานที่แห่งนั้นต่างปรารถนาจะได้ชมการประชันขันแข่งของนักแซ็กโซโฟนทั้งสอง โดยคาดหวังว่า เลสเตอร์ น่าจะมีฝีมือเป็นรอง ชู คืนนั้น ชู แบร์รี ไม่ได้นำแซ็กโซโฟนของเขาติดตัวมาด้วย แต่ “เบนนี คาร์เตอร์ ไม่ปล่อยให้เงื่อนไขนี้หยุดเขาไว้” บิลลี กล่าว “เขาเหมือนฉัน ตรงที่มีความเชื่อมั่นในเลสเตอร์ ดังนั้นเขาจึงอาสาไปหยิบเครื่องดนตรีของชูมา” ตามคำบอกเล่าของ บิลลี ฮอลิเดย์ นักแซ็กโซโฟน เลสเตอร์ ยัง สามารถเอาชนะ ชู แบร์รี ได้ในท้ายที่สุด แต่มุมมองของ เบนนี คาร์เตอร์ ในเวลาต่อมา กลับแตกต่างออกไป “ผมชื่นชม เลสเตอร์ แน่นอน” เขากล่าว “แต่ผมก็มีความรู้สึกดี ๆ ต่อ ชู เขาเคยอยู่ในวงของผม และเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ผมสงสัยว่าจริง ๆ แล้ว ผมต้องการให้เขาประชันกันหรือต้องการทำให้ใครสักคนอับอายขายหน้ากันแน่ อย่างน้อยที่สุดก็ ชู คนหนึ่งล่ะ” เบนนี สารภาพ ถึงเวลานี้ เลสเตอร์ ยัง ก็ได้พลัดเข้ามาในแวดวงแจ๊สที่นครนิวยอร์กแล้ว เขาเช่าที่พักราคาถูกแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อ บิลลี ฮอลิเดย์ ทราบเรื่องก็ได้ชักชวนให้เขามาพักอาศัยในชายคาเดียวกับเธอ ผมมาถึงนิวยอร์ก ปี 1934 ผมเคยอาศัยอยู่ที่บ้านของเธอ กับแม่ของเธอ เพราะผมไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน บิลลี ได้สอนหลาย ๆ อย่างให้แก่ผม” เลสเตอร์ ให้สัมภาษณ์ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามเนื้อแท้ แนวทางการเล่นแซ็กโซโฟนของ เลสเตอร์ ก็ได้ให้บทเรียนอันล้ำค่าแก่ บิลลี ไม่แพ้กัน สำหรับนักร้องสาวคนนี้ ไม่มีโรงเรียนดนตรีแจ๊สที่สมบูรณ์พร้อมสรรพไปกว่านี้อีกแล้ว ความสัมพันธ์ของ บิลลี และ เลสเตอร์ พัฒนาขึ้นมาอย่างลึกซึ้ง ในขั้นของ ‘เพลโตนิค เลิฟ’ หรือความรักในขั้นอุดมคติ ซึ่งยังยาวนานออกไปอีกหลายสิบปี พวกเขาเชื่อมโยงจิตวิญญาณของกันและกันด้วยเสียงดนตรี บิลลี ได้เข้าถึงแนวคิดทางดนตรีของ เลสเตอร์ ที่ผสมผสานระหว่างอิทธิพลทางดนตรี แรงปรารถนาและแรงบันดาลใจ เลสเตอร์ อาจจะมีพื้นฐานทางดนตรีที่แตกต่างจาก บิลลี เขาเติบโตมาในครอบครัวนักดนตรี มีวินัยในการฝึกฝนดนตรีมาตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งที่ทั้งคู่มีคล้าย ๆ กันก็คือ เขาเลือกใช้ตัวโน้ตแต่น้อย อย่างเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือย นิยมการใช้ตัวโน้ตที่มีลักษณะ “ซิงโคเพท” ซึ่งแทรกขึ้นไปบนจังหวะหลัก พึงใจเล่นบนจังหวะปานกลางและจังหวะช้ามากกว่า และแน่นอนทั้งคู่ชื่นชอบพืชพันธุ์ที่สูบได้ อย่าง “กัญชา” เหมือน ๆ กัน เมื่อเปรียบเทียบกับนักเทเนอร์แซ็กโซโฟน โคลแมน ฮอว์กินส์ กล่าวได้ว่า เลสเตอร์ ยัง ไม่ได้บรรเลงอย่างสลับซับซ้อนปานนั้น แต่แนวทำนองในการโซโลของ เลสเตอร์ ได้สะท้อนถึงความคิดที่ก้าวหน้า เขาสามารถโซโลผ่านแนวทางเปลี่ยนคอร์ดได้คล่องแคล่ว ให้เสียงดนตรีปะปนอยู่กับโครงสร้างเพลง จนราวกับเป็นส่วนหนึ่งของบทประพันธ์ และแน่นอนทีเดียวว่า เลสเตอร์ มีความเป็นต้นแบบมากเพียงพอ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1934 เลสเตอร์ ทนแรงกดดันที่มีต่อเขาจากสมาชิกภายในวงดนตรีของ เฟล็ทเชอร์ เฮนเดอร์สัน ไม่ไหว เขาตัดสินใจสละตำแหน่งให้แก่ แอนดี เคิร์ก (Andy Kirk) เพื่อเดินทางกลับ แคนซัส ซิตี  โดยมีบันทึกบอกเล่าในครั้งนั้นว่า เฟล็ทเชอร์ ได้ออกมาพูดกับนักดนตรีภายในวงว่า เอาเข้าจริง ๆ แล้ว เลสเตอร์ เล่นดีกว่าทุก ๆ คนในวงด้วยซ้ำ และพวกเขาน่าจะได้ฟัง เลสเตอร์ อีกครั้ง ........................... หลังจากงานบันทึกเสียงครั้งแรกแล้ว ตลอดปี ค.ศ. 1934 บิลลี ฮอลิเดย์ กลับคืนสู่สภาพไร้ทิศทางอีกครั้ง ท่ามกลางการแข่งขันของบรรดานักร้องหญิงในย่านฮาร์เล็มเวลานั้น นับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายดายนักที่จะได้รับโอกาสดี ๆ เพื่อแจ้งเกิดในวงการ ระยะนี้ บิลลี เริ่มต้นความสัมพันธ์กับ บ๊อบบี เฮนเดอร์สัน (Bobbie Henderson) นักเปียโน โดยทั้งคู่มีงานประจำเล่นที่ พ็อด’ส แอนด์ เจอร์รี’ส (Pod’s and Jerry’s) ซึ่งอาจถือได้ว่านี่คือความสัมพันธ์แบบรัก ๆ ใคร่ ๆ ขั้นลึกซึ้งครั้งแรกของ บิลลี แต่น่าเสียดายว่าทุกอย่างจบลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเธอพบว่า บ๊อบบี เป็นชายที่มีครอบครัวอยู่ก่อนหน้าแล้ว ระหว่างร้องเพลงกับ บ๊อบบี เฮนเดอร์สัน ทั้งคู่มีโอกาสได้โชว์ในแบบ “ดูโอ” บนเวทีของ อพอลโล เธียเตอร์ (Apollo Theater) ซึ่งจัดเป็นกิจกรรมประจำที่มีดาวรุ่งไปแจ้งเกิดจากเวทีนี้กันมาก บรรดาสื่อมวลชนต่างให้ความสนใจติดตามอย่างต่อเนื่อง และมีการเขียนบทวิจารณ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม  บิลลี ฮอลิเดย์ ไม่เพียงไม่ประสบความสำเร็จ หากยังได้รับเสียงวิจารณ์ในทางลบ อันสืบเนื่องจากความประหม่าของเธอเอง เมื่อแยกทางกับ บ๊อบบี เฮนเดอร์สัน นักร้องสาวย้ายไปร้องเพลงที่ เดอะ ซันเซ็ท และต่อด้วยที่ เดอะ ฮ้อท-ช่า เรสเตอรองท์  ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1934 ระหว่างทำงานประจำในสำนักงานของ เออร์วิง มิลล์ โปรดิวเซอร์ จอห์น แฮมมอนด์ จัดการหางานให้ บิลลี ฮอลิเดย์ ได้ร้องเพลงและแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Symphony in Black ซึ่งเป็นหนังเพียงไม่กี่เรื่องที่เธอได้ปรากฏตัว โดยมี ดุ๊ก เอลลิงตัน (Duke Ellington) เป็นผู้ดูแลงานด้านดนตรี ในเพลง Saddest Tale ของหนังเรื่องนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักอันไม่สมหวัง ด้วยรูปแบบของดนตรีบลูส์ บิลลี ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ภายในตัวเธอลงสู่บทเพลงนี้อย่างท่วมท้น จนไม่น่าเชื่อว่าเจ้าของเสียงร้องจะเป็นเพียงเด็กสาวอายุ 19 ปีเท่านั้น บิลลี มีโอกาสกลับมาแสดงที่ อพอลโล เธียเตอร์ อีกครั้ง เมื่อ ราล์ฟ คูเปอร์ (Ralph Cooper) คนดังของแวดวงฮาร์เล็ม ผู้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรประจำของ อพอลโลฯ ตัดสินใจตั้งวงดนตรีของตนเองขึ้นมา และได้ตัดสินใจเลือกเธอเป็นนักร้องประจำวง ระหว่างที่เขาแวะไปกินสปาเกตตีที่ ฮ้อท-ช่า ฯ แล้วพลันเกิดความประทับใจกับเสียงร้องของเธอ ทว่า วงดนตรีของเขาไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีนัก จึงมีการแก้ไขแนวการร้องของเธอ จากเพลงช้าเปลี่ยนให้เป็นเพลงที่มีจังหวะเร็วขึ้น และมีการนำ เฮิร์บ เจฟฟรีส์ (Herb Jeffries) นักร้องชายจากชิคาโก มาช่วยสร้างสีสันเพิ่มเติม แต่ด้วยเสียงเรียกร้องของแฟน ๆ ที่ต้องการให้ ราล์ฟ กลับมาทำหน้าที่เป็นพิธีกรดังเดิม เพียงไม่กี่อาทิตย์ วงดนตรีดังกล่าวก็ต้องล้มเลิกลง ... บิลลี กลับมาร้องเพลงที่ ฮ้อท-ช่า อีกครั้ง ระหว่างนั้น เรื่องราวของนักร้องสมัครเล่นวัย 18 ปีคนหนึ่ง ที่ก้าวขึ้นมาเป็นดาวเด่นในวงดนตรีของมือกลอง ชิค เว็บบ์ (Chick Webb) จากเวทีประกวดแห่งหนึ่ง ได้กลายเป็นความเคลื่อนไหวที่โจษจันกันในวงการดนตรี ด้วยความสงสัยใคร่รู้ระคนขมขื่น บิลลี ฮอลิเดย์ ตัดสินใจไปชมการแสดงของเด็กสาวคนนั้นที่ เดอะ ซาวอย (The Savoy)  ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของ เลน็อกซ์ แอฟเวอนู เพื่อจะได้เห็น เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) กับวงดนตรีสวิงที่ยิ่งใหญ่วงนั้นกำลังบรรเลงได้อย่างน่าทึ่ง คำถามเรื่องนี้อาจจะมีอยู่ว่า ทำไม ชิค เว็บบ์ มือกลองระดับแนวหน้าในเวลานั้น ไม่เลือก บิลลี ฮอลิเดย์ เป็นนักร้องนำ ผู้ให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดี คือ ชาร์ลส์ ลินตัน (Charles Linton) นักร้องชายในวงของ ชิค เว็บบ์ ซึ่งสรุปได้ใจความสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า เพราะเขาต้องการนักร้องที่สามารถร้องเพลงสวิงได้นั่นเอง มิใช่เพลงคลาสสิก หรือเพลงบัลลาดอันซึมเซาอีกต่อไป ในช่วงเวลาที่ชีวิตไร้ทิศทางเช่นนี้ บิลลี พบรักใหม่เป็นนักเทเนอร์แซ็กโซโฟนหนุ่มหล่อ นาม เบน เว็บสเตอร์ (Ben Webster) ข้อเสียของเบนคือเมื่อดื่มเหล้าไปเพียงไม่กี่แก้ว เขาจะเปลี่ยนเป็นคนเลือดร้อนขึ้นมาทันที แต่ดูเหมือน บิลลี จะหลงใหลในด้านมืดอันแปลกประหลาดของชายคนนี้เสียแล้ว ดังเห็นได้จากร่องรอยฟกช้ำที่มักเกิดขึ้นบนใบหน้าของเธอในระยะนั้น   ติดตามบทความ บิลลี ฮอลิเดย์ ได้ที่นี่ PART I บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: เปิดตำนานปริศนา PART III บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การมาถึงของนักร้องแจ๊ส PART IV บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การดิ่งลงสู่ก้นเหว