31 ต.ค. 2566 | 22:18 น.
ช่วงนี้ราคาน้ำมันดิบในบ้านเราก็ยังขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามราคาตลาดโลก ในช่วงเดือน ก.ย. จะเห็นว่าราคามีการขยับขึ้นมา แต่พอเข้าเดือน ต.ค. จะเห็นเบนซิน แก๊สโซฮอล์ ลงมาหลายวันติด ๆ กันแล้วนะครับ ส่วนดีเซลรัฐบาลยังช่วยดูแลอยู่ไม่เกินลิตรละ 30 บาท เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนไปถึงสิ้นปีนี้
นอกจากนั้น ซาอุดีอาระเบียประกาศขยายกรอบเวลาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบแบบสมัครใจ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่รัสเซียได้ขยายกรอบเวลาลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ 300,000 บาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อพยุงราคาน้ำมันไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 80 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่ทำให้อากาศในยุโรปปีนี้ร้อนจัด ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในยุโรป เลยยิ่งทำให้อุปทานยิ่งตึงตัวขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกัน โรงกลั่นทั่วโลกปิดซ่อมบำรุงในฤดูใบไม้ผลิเพิ่มขึ้น (Autumn Turnaround) โดย Energy Aspects คาดการณ์ว่าในเดือน ก.ย. 66 จะปิดซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้น 17% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 6.39 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 3 เดือน
ราคาน้ำมันได้ปัจจัยหนุนจากฝั่งซัพพลายที่ตึงตัว แต่ถ้าไปดูในฝั่งดีมานด์ จะเห็นตัว อุปสงค์ยังถูกกดดันจากภาพของเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะทรงตัวในระดับสูงไปอีกนาน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าอุปสงค์น้ำมันโลกยังถูกกดดันจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักของโลกซึ่งอาจอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน โดยประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในปี 2566 สู่ระดับ 5.50 - 5.75% จากระดับ 5.25 – 5.50% ในปัจจุบัน
และดอกเบี้ยอาจยืนระดับสูงอีกเป็นเวลานานเพื่อให้เงินเฟ้อลดลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ของสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 3.7% จากปีก่อน สูงสุดในรอบ 3 เดือน
เศรษฐกิจจีนแม้จะฟื้นตัวช้ากว่าคาด ท่ามกลางความระส่ำระส่ายในวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น ธนาคารแห่งชาติของจีน (People’s Bank of China: PBOC) และสำนักบริหารการกำกับดูแลการเงินแห่งชาติ (National Administration of Financial Regulation: NAFR) ออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดสัดส่วนการวางเงินดาวน์ สำหรับตลาดบ้านมือหนึ่งจาก 30% สู่ระดับ 20% และบ้านมือสองจาก 40% สู่ระดับ 30% ของมูลค่าบ้าน
โดยรวมแล้วอุปสงค์น้ำมันโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็คงไม่ได้หวือหวามากนัก โดยสำนักงานพลังงานสากล (International Energy Administration: IEA) คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อน มาอยู่ที่ 101.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี 2567 เพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 102.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศของหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในไตรมาส 4 ปี 2566 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 85 – 95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้วยยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ตึงตัว หลังกลุ่ม OPEC+ ประกาศขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันดิบ ประกอบกับเป็นช่วงฤดูเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติก (เดือน มิ.ย. - พ.ย. 66) อาจกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวเม็กซิโก (Gulf of Mexico: GOM) ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ GOM ผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 15% ของการผลิตในสหรัฐฯ และยังอาจกระทบต่อการดำเนินการของโรงกลั่น
ขณะเดียวกันถ้าไปดูปริมาณสำรองน้ำมันโลกตอนนี้อยู่ในระดับต่ำมากๆ ซึ่งปริมาณสำรองน้ำมันในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 2,808 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ 6%
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ยังต้องติดตาม และอาจส่งผลกระทบต่อราคาในช่วงปลายปี 2566 เช่น ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียอาจขยายเวลาลดอุปทานน้ำมันโดยสมัครใจต่อไปหลังสิ้นสุดกำหนดเดิมในเดือน ธ.ค. 66
ขณะที่อุปทานน้ำมันจากสหรัฐฯ, อิหร่าน, และเวเนซุเอลา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้ผลิตเริ่มผลิตน้ำมันตอบสนองกำไรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว หากราคาน้ำมันมากกว่า 95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากปัจจัยสนับสนุนชั่วคราว อาจทำให้ไม่สามารถทรงตัวเหนือระดับดังกล่าวได้นาน
และล่าสุดเลย ยังคงต้องเกาะติดสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ ซึ่งตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ภาวะสงครามอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมันอาจจะลุกลามไปอีกหลายพื้นที่ของตะวันออก ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก